กระทรวงสาธารณสุข เสนอของบประมาณเพิ่มในปี 2558  ทั้งงบลงทุน งบดำเนินงาน และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงินรวม  232  แสนล้านกว่าบาท  โดยขอเพิ่มเติมในส่วนงบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 1,936  ล้านบาท และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีก  6,764   ล้านกว่าบาท  เพื่อดูแลผู้ป่วย  เน้นการบูรณาการการทำงานทุกกรมตามกลุ่มวัย     

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอของบประมาณในภาพรวมทั้งกระทรวง ที่ได้รับการพิจารณาเบื้องต้นจากสำนักงบประมาณวงเงิน 223 แสนล้านกว่าบาท โดยกระทรวงฯ จะทำเรื่องเสนอขอเพิ่มอีก 9,000  ล้านบาท ประกอบด้วยงบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุข 1,936 ล้านบาท งบดำเนินงาน 632  ล้านบาท และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ    วงเงิน 6,764 ล้านบาทเต็มจำนวน  ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.8  ของงบที่ได้รับจัดสรร ได้ทำการชี้แจงกับหัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา และสำนักงบประมาณแล้ว

ทั้งนี้ งบประมาณ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คืองบลงทุน จะจัดสรรให้เขตบริการสุขภาพบริหารจัดการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การสร้างอาคารผู้ป่วยใน อาคารผู้ป่วยนอก อาคารสนับสนุน และบ้านพัก โดยให้ผู้ตรวจราชการฯ ดำเนินการจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงฯ ได้กำหนดไว้  และงบดำเนินการ ได้ให้ความสำคัญการทำงานแบบบูรณาการของทุกกรมวิชาการในการสร้างเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสตรีและเด็ก วัยเรียน-วัยรุ่น วัยแรงงาน ผู้สูงอายุ และ ผู้พิการ  และการพัฒนาระบบบริการ 4 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบบริการ โดยระดับปฐมภูมิได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) เพื่อลดป่วยลดโรค และระบบบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป  2.ระบบป้องกันควบคุมโรค  3.ระบบการคุ้มครองผู้บริโภค  และ 4.ระบบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

 นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า  ได้นำเสนอการพัฒนาระบบสาธารณสุขว่า ให้คณะกรรมการเขตบริการสุขภาพมีการบริหารการเงินร่วมกันภายในเขต ซึ่งต้องให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคมากขึ้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการในรูปแบบเขตบริการสุขภาพ  รวมถึงระบบการเงินการคลังด้วย ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจในการบริหารงาน โดยตั้งเป้าให้รูปแบบการจัดบริการแบบเขตสุขภาพ จะต้องเกิดขึ้นภายใน 3 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข  จะต้องมีการเตรียมการรองรับในช่วงงบประมาณขาลง   โดยให้ส่วนภูมิภาค และเขต ร่วมกำหนดเป้าหมายการบริหารเงิน การทำงานของแต่ละเขต   และให้ สปสช.ประเมินผลการทำงาน ว่าบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่  โดยดูที่ผลลัพธ์ของประชาชน  ที่สำคัญประชาชนต้องมาร่วมบริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินของแต่ละเขตด้วย  

***************************  29 มิถุนายน 2557



   
   


View 16    29/06/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ