สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 161 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (26 มิถุนายน 2557) ที่ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลโทฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 43 เพื่อร่วมต่อต้านและขจัดปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนทุกปี โดยมี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา (อย.) ทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน
ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายครั้งนี้ มีน้ำหนัก(นน.)รวมกว่า 3,094 กิโลกรัม จาก 2,911 คดี รวมมูลค่ากว่า 8,867 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 2,504 กิโลกรัม หรือประมาณ 27 ล้านเม็ด มูลค่าประมาณ 8,348ล้านบาท 2.ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 243 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 487 ล้านบาท 3.เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 21 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 17 ล้านบาท 4.เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี น้ำหนักกว่า 2 กิโลกรัม หรือประมาณ 9,000 เม็ด มูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท 5.ฝิ่น น้ำหนักกว่า 74 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท และอื่นๆ อีก นอกจากนี้ยังมีกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดนำมาร่วมเผาน้ำหนักกว่า 5,066 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท
ของกลางทั้งหมดนี้จะเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอเรชั่น (Pyrolytic Incineration) โดยเผาในเตาที่มีอุณหภูมิความร้อนสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส ทำให้สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิด สลายตัวเป็นเถ้าถ่านทั้งหมดในเวลารวดเร็วไม่สามารถนำกลับไปใช้ได้อีกวิธีเผานี้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายหลังเผาทำลายแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มตัวอย่างเถ้าในเตาเผา เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่า มียาเสพติดเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจหลังการเผาที่ผ่านมาทุกครั้ง ไม่พบสารเสพติดเหลืออยู่ในขี้เถ้าของกลางแต่อย่างใด
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มการระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์น่าห่วง จึงมีการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างเร่งด่วน และบำบัดผู้เสพซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วย ในปีนี้ ตั้งเป้าบำบัดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้คาดประมาณว่ามีผู้เสพยาเสพติดมากกว่า 1.2 ล้านคน และจากประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 ได้ให้ความสำคัญปัญหายาเสพติด ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการอย่างเข็มแข็ง จริงจัง โดยกำหนดวัตถุประสงค์หลัก คือ“ลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดของประเทศ ขจัดความเดือดร้อนของประชาชน” เพื่อให้ปัญหาลดลงอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นมาตรการเร่งด่วน ต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 30 วัน เน้นหนักการบำบัด ฟื้นฟู และสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเตรียมพร้อมหน่วยและทีมบำบัดรองรับผู้เสพ/ผู้ติด ให้เข้ารับการบำบัดได้ทุกโรงพยาบาลและมีระบบการส่งต่อ พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.เชี่ยวชาญยาเสพติด เพื่อติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชน และพัฒนารูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดเชิงรุก เช่น หลักสูตรเพิ่มทักษะในการดูแลลูกหลานแก่พ่อแม่ โครงการทูบีนัมเบอร์วัน ในสถานศึกษาทุกระดับ เป็นวัคซีนแก่กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้รู้เท่าทันพิษภัยยาเสพติด
สำหรับผลการบำบัดผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดในปีงบประมาณ 2556 นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาได้ 4.8 แสนกว่าคน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 แสนคน ส่วนในปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2556-15 มิถุนายน 2557 มีผู้เข้ารับการบำบัด ในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด 1,287 แห่งทั่วประเทศ รวม 150,517 คน โดยระบบบังคับบำบัดมากที่สุด 97,713 คน รองลงมาคือระบบสมัครใจ 39,628 คน และในระบบต้องโทษ 13,176 คน กลุ่มผู้เสพยาเสพติดหลักที่เข้ารับการบำบัดร้อยละ 45 เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 15-24 ปี ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ว่างงานและเกษตรกร โดยผู้เข้าบำบัดเป็นรายใหม่ร้อยละ 68 ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี มากถึงร้อยละ 47 จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเป็นผู้เสพที่ยังไม่ติดร้อยละ 61 เป็นผู้ติดยาร้อยละ 36 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 3
“ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ยาบ้าร้อยละ 87 กัญชาร้อยละ 4.5 และ ยาไอซ์ร้อยละ 3.7 ลักษณะการใช้ยาเสพติดของผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ส่วนใหญ่ จะใช้ยาเสพติดชนิดเดียวมากที่สุดคือร้อยละ 85 เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการใช้ยาเสพติดมากกว่า 1 ชนิด ร้อยละ 15 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่พบร้อยละ 11 และการเสพติดอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3 ส่งผลให้การบำบัดรักษามีความยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
ทั้งนี้ สถานการณ์ยาเสพติดระดับโลก องค์การสหประชาชาติ รายงานล่าสุดในปี 2552 ประชากรโลกใช้สารเสพติด 172-250 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2533-2542 ประมาณ 7 เท่าตัว โดยเป็นผู้เสพติด 18-38 ล้านคน การเสพยาเสพติดจัดเป็น 1 ใน 20 ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั่วโลก เช่นการติดเชื้อเอชไอวี ตับอักเสบ และวัณโรค โดยมีผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติด และติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 2.8 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 8 ล้านคน แต่ละปีมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเสพติด 104,000-263,000 คน อายุระหว่าง 15-64 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการเสพติดเกินขนาด
********************************** 26 มิถุนายน 2557