กระทรวงสาธารณสุข จัดหลักสูตรอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ  ยกระดับความปลอดภัย ป้องกันเกิดอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน เผยสถิติในรอบ 3 ปี รถพยาบาลฉุกเฉิน          เกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง เจ็บ 119 ราย เสียชีวิต 18 ราย เฉลี่ยอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 15 สูงกว่ารถตู้ทั่วไปถึง 3 เท่าตัว ในระยะยาวจะออกใบขับขี่ให้เป็นการเฉพาะด้วย พร้อมกำหนดมาตรฐานรถพยาบาลฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องสมบูรณ์แบบทั้งพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และการสร้างจิตสำนึกประชาชน  ให้หลีกทางรถพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์ยังโรงพยาบาลปลายทางปลอดภัยที่สุด

          วันนี้ (25 มิถุนายน 2557) ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์      รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน (Thai Emergency Ambulance Driving Course) จากโรงพยาบาลในสังกัดและโรงพยาบาลเอกชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รุ่นแรก จำนวน 35 คน ระหว่างวันที่ 23 -28 มิถุนายน 2557 เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และยกระดับมาตรฐานของพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้สามารถนำส่งผู้ป่วยอย่างปลอดภัย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ               ของผู้ป่วย 

 นายแพทย์วชิระกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถพยาบาลฉุกเฉิน   ที่ใช้ในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง ประมาณ 2,500 คัน ซึ่งจากการประเมินพบว่ามีสภาพ    อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานพร้อมปฏิบัติงาน แต่ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานรับส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินบ่อยครั้ง ในรอบเกือบ 3 ปีมานี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555-12 มิถุนายน 2557 สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน รายงานมีรถพยาบาลฉุกเฉินในสังกัดทั่วประเทศ เกิดอุบัติเหตุรวม 27 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 119 ราย เสียชีวิต 18 ราย อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 15   สูงกว่ารถตู้โดยสารทั่วไป 3 เท่าตัว แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ผู้ป่วย และญาติ  จึงได้เร่งป้องกันแก้ไขปัญหา ในระยะสั้นนี้     ได้จัดหลักสูตรอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกแห่งให้เป็นมืออาชีพ เรียนรู้ ทั้งทฤษฎีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน การดูแลรักษาตรวจเช็คความพร้อมของรถ กฎหมายจราจร การใช้วิทยุสื่อสาร เทคนิคการขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ และฝึกทักษะการขับรถในสถานการณ์ต่างๆ เพิ่มความคล่องตัวต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ยิ่งขึ้น  

ส่วนในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานเกี่ยวข้อง       เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตการขับขี่รถพยาบาลฉุกเฉินโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เคยมีใช้แต่ในต่างประเทศมีใช้แล้ว เช่นที่อังกฤษ อเมริกา เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะให้มีผลบังคับใช้กับรถพยาบาลฉุกเฉินในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนรวมทั้งมูลนิธิกู้ภัย เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สร้างความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สามารถนำผู้ป่วยส่งถึงมือแพทย์ยังโรงพยาบาลปลายทาง      

          ด้านนายแพทย์อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ศึกษาและกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยรถพยาบาลฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉินไว้  7  ประการ ได้แก่  1. พนักงานขับรถพยาบาล ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถ


พยาบาลที่เหมือนจริง มีใบขับขี่รถพยาบาลเท่านั้น มีการตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจและตรวจสารเสพติดในปัสสาวะก่อนขับ ผ่านการทดสอบสุขภาพจิต 2.พยาบาลที่ปฏิบัติงาน ต้องสามารถดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่ส่งต่อได้ 3.รถพยาบาลต้องมีโครงสร้างตัวถังรถที่แข็งแรง มีการตรวจเช็คสภาพรถ ติดตั้งจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัยที่ยึดกับตัวเบาะที่นั่ง หรือยึดกับตัวรถ 4.ติดตั้งระบบจีพีเอส(GPS) ประจำรถ เพื่อสามารถติดตามตำแหน่งพิกัดของรถพยาบาล และควบคุมความเร็วได้  

          5. การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อบ่งชี้ของการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการส่งต่อในช่วงเวลาไม่เหมาะสม 6.จำกัดความเร็วรถพยาบาลฉุกเฉินไม่เกินกฎหมายกำหนด ให้ยึดกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  และ       7.ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน หากพบรถพยาบาลฉุกเฉินที่เปิดสัญญาณไฟขอให้      หลีกทาง เพื่อให้รถพยาบาลส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์ยังโรงพยาบาลปลายทางปลอดภัยที่สุด

นายแพทย์อนุรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับหลักสูตรการอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน จะใช้เวลาหลักสูตรละ 4 วัน และจะขยายผลให้เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตดำเนินการจัดอบรมให้ครบทุกแห่ง และภาคปฏิบัติที่สนามฝึกขับรถยนต์ ของสำนักงานขนส่งจังหวัดนั้นๆ  

******************** 25 มิถุนายน 2557



   
   


View 59    25/06/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ