สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 163 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยสำนักระบาดวิทยา รายงานผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศปีนี้ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 87,000 คน เสียชีวิต 459 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก คาดว่าจะพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ประมาณเดือนละ18,000 ราย เตือนหากป่วยเป็นไข้หวัด 3 วัน ไข้ยังไม่ลด ไอ หายใจหอบ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และขอให้กลุ่มเสี่ยงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสภาพที่มีฝนตกชุกในช่วงนี้ ทำให้อากาศมีความชื้นสูง อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อย เจ็บป่วยได้เป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่าย โรคที่พบบ่อยและอันตรายสูงคือโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งสำนักระบาดวิทยาคาดว่าในปี 2557 จะมีรายงานผู้ป่วยสูงสุดในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ประมาณเดือนละ18,000 ราย โดยตั้งแต่ 1 มกราคม- 16 มิถุนายน 2557 พบผู้ป่วยแล้ว 87,279 คน มากสุดเป็นกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 35 รองลงมากลุ่มอายุ 55-64 ปี ร้อยละ 13 และกลุ่มเด็กอายุ 1 ปีร้อยละ 9 มีผู้เสียชีวิต 459 คน ส่วนปี 2556 ตลอดปีมีผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศทั้งหมด 184,510 คน เสียชีวิต 1,174 คน
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชนในการดูแลสุขภาพ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ หากเปียกฝนให้รีบชำระล้างร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และขอให้กลุ่มเสี่ยงสูงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัดและเบาหวาน โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิดเช่นแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอ หายใจหอบเหนื่อย มักจะเกิดตามหลังป่วยไข้หวัด 3 วัน ผู้ป่วยจะไข้ไม่ลด ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ทั้งนี้ในผู้ป่วยเด็กเล็กๆ ผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอย่าง ควรให้ความสนใจและสงสัยมากกว่าปกติ โดยในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ หรือตัวอุ่นๆและซึมลงเท่านั้น หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สังเกตได้จากเด็กจะมีไข้สูง ซึมลง ไม่กินน้ำ กินนม หายใจหอบเร็วหรือหายใจมีเสียงดังหวีด หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้
ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มผักและผลไม้ให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดพัก งดทำงาน งดไปโรงเรียน ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่คนแออัด หมั่นล้างมือให้สะอาดภายหลังสัมผัสสิ่งของหรือผู้ป่วย ***************** 22 มิถุนายน 2557