สธ.จับมือ มท.ร่วมแก้ปัญหาที่ดิน รพ.สต.ถ่ายโอน เร่งขออนุญาตใช้ที่ดินตามกฎหมายแต่ละประเภท
- สำนักสารนิเทศ
- 170 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จับมือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เชิญชวนประชาชนงดเหล้าเข้าพรรษาคืนความสุขให้คนในครอบครัว เตรียมขับเคลื่อนกฎหมาย เพื่อปกป้องลูกหลานจากภัยน้ำเมา หลังพบนักดื่มหน้าใหม่ปีละ 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชน ซึ่งจะเป็นลูกค้าบริษัทเหล้าในระยะยาว มีโอกาสติดเหล้าร้อยละ 70 เกิดปัญหาต่อเนื่อง เช่น อุบัติเหตุ พิการ ท้องไม่พร้อม โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
วันนี้ (20 มิถุนายน 2557) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ หลักสี่ กทม. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกล่าวปาฐกถาในเวทีสานพลังภาคีเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายงดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “สัญญางดเหล้าเข้าพรรษา ร่วมให้กำลังใจคนงดเหล้าให้ครบ 3 เดือน” จัดโดยเครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยปาฐกถาว่า มติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาเป็น“วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ปัจจุบันมีคนที่งดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มจากร้อยละ 15 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 60 และสามารถงดเหล้าตลอด 3 เดือนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 30 ประหยัดเงินได้ถึง 2-3 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ อาชญากรรม และลดปัจจัยการเกิดโรคได้ถึง 200 โรค
ข้อมูลจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยปี 2552 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการดื่มเหล้าประมาณปีละ 26,000 คน และเกิดความสูญเสียปีสุขภาวะเป็นอันดับ 1 โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ประเมินมูลค่าผลกระทบมีมากถึง 1.51 แสนล้านบาทหรือร้อยละ 1.97 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นอกจากนี้ ยังพบนักดื่มหน้าใหม่ปีละ 250,000 คน ได้ตั้งเป้าจะลดนักดื่มหน้าใหม่อายุ 15-19 ปี จากร้อยละ 14 ในปี 2554 ให้เหลือร้อยละ 13 ในปี 2557 เพราะกลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะเป็นลูกค้าบริษัทเหล้าในระยะยาวโตขึ้น มีโอกาสติดเหล้าร้อยละ 70 เกิดปัญหาต่อเนื่อง เช่น อุบัติเหตุ พิการ ท้องไม่พร้อม โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ส่งผลต่อคุณภาพประชากรระยะยาว ทั้งนี้ การที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เนื่องจากพบว่ามีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 5 แสนแห่งที่ถูกกฎหมาย ประชาชนใช้เวลาเดินทางไปซื้อได้ภายใน 4.5 นาที ที่สำคัญเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยไม่มีการปฏิเสธจากผู้ขายหรือการตรวจดูอายุมากถึงร้อยละ 99
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและทุกภาคส่วนจะได้เร่งขับเคลื่อนกฎหมาย และนโยบาย 4 มาตรการ คือ 1.การพิจารณาทบทวนการห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขายทุกรูปแบบเช่นเดียวกับการห้ามโฆษณายาสูบ 2.มาตรการใหม่ ได้แก่ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และห้ามจำหน่ายในทางสาธารณะ เช่น ถนนและทางรถไฟ รวมทั้งการใช้ภาพคำเตือนบนสลาก ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.การเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และ4.มาตรการตามพ.ร.บ.สุราฯ เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การกำหนดเงื่อนไข ขั้นตอนการออกใบอนุญาต ใบอนุญาตการผลิต และการกำหนดความหนาแน่นของสถานที่จำหน่ายสุรา
นอกจากนี้ จะได้ช่วยสนับสนุนให้งานรณรงค์งดเหล้าฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มคลินิกบำบัดผู้ติดสุราในโรงพยาบาลจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้ มีแล้ว 452 แห่ง และจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ร่วมรณรงค์และการคัดกรองผู้ดื่มสุราในชุมชนเชิญชวนให้ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า งดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ จะมีหมู่บ้านรณรงค์อย่างจริงจัง 350 แห่งทั่วประเทศ และหวังว่าจะทำให้มีคนงดเหล้าครบ 3 เดือนเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจะมีคนกลับมาดื่มระหว่างพรรษาประมาณร้อยละ 20 สาเหตุเพราะต้องเข้าสังคม นอกจากนั้น บทบาทภาคประชาสังคมจะช่วยเร่งมาตรการกฎหมาย การแจ้งเบาะแสการทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณา และการขายเหล้าให้กับเด็ก ซึ่งต้องยอมรับว่าเรายังมีข้ออ่อนเรื่องนี้มาก
****************************** 20 มิถุนายน 2557