สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 163 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน ที่ชื่นชอบรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือปรุงดิบๆ สุกๆ เช่น จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก ลาบก้อย หลู้ ส้า มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อโรคไข้หูดับ มีอันตรายขั้นเสียชีวิต หรือหูหนวกตลอดชีวิต ปี2557 นี้ตั้งแต่ต้นปี – กลางเดือนพฤษภาคม พบผู้ป่วย 74 ราย เสียชีวิต 8 ราย ชี้หากเป็นนักดื่ม หรือมีโรคประจำตัว อาการป่วยจะรุนแรงขึ้น ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเร่งให้ความรู้เพื่อลดป่วยและเสียชีวิต
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพอากาศในฤดูฝน ทำให้มีความอับชื้นในฟาร์มหรือสถานเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ที่เป็นสัตว์นำเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า สเตร็บโตค็อกคัส
ซูอิส (Streptococcus suis) เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคไข้หูดับสู่คน และทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ ถือเป็นโรคติดต่อมาจากสัตว์ที่มีความรุนแรงโรคหนึ่ง หมูที่ติดเชื้อ มักจะไม่แสดงอาการป่วย โดยเชื้อจะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู โดยเฉพาะที่ต่อมทอนซิลหรือที่บริเวณคอหอยและในโพรงจมูกของหมู แต่หากหมูมีอาการป่วยร่วมด้วย ก็จะพบเชื้อนี้อยู่ในกระแสเลือดของหมูด้วย โรคนี้พบได้ทั่วโลก ในไทยพบผู้ป่วยทุกปี ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15พฤษภาคม 2557 มีผู้ป่วย 74 ราย จาก 11 จังหวัด เสียชีวิต 8 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 มีอาชีพรับจ้างและทำการเกษตร
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า เชื้อสเตรปโตค็อคคัส ซูอิส เข้าสู่ร่างกายคน ทางบาดแผลตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา และจากการรับประทานเข้าไป โดยจะพบในรายที่รับประทานเนื้อหมูที่ปรุงดิบ หรือปรุงดิบๆสุกๆ เช่น ลาบหมู หลู้ ส้าดิบ หลังจากเชื้อเข้าสู่รางกาย จะไปทำลายอวัยวะภายใน และระบบประสาท ทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ ที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2ข้าง อักเสบ และเสื่อมอย่างรุนแรง หูหนวกตลอดชีวิต และยังพบอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง โดยจะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบบ่อยดังนี้คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีอัตราเสียชีวิตได้ร้อยละ 5-20 ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือผู้ที่สัมผัสกับสุกรที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสุกร เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ
ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว โรคนี้รักษาหายขาดได้ ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศมีศักยภาพในการรักษา จึงขอแนะนำประชาชนที่มีอาการป่วยดังที่กล่าวมา หลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ในการป้องกันการติดเชื้อไข้หูดับ มีคำแนะนำดังนี้ ในกลุ่มผู้บริโภค ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์มาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่จำหน่ายข้างทางหรือร้านของป่า 2. ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือเนื้อยุบ 3.ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อน นานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูดิบ หรือดิบๆสุกๆ ในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในเล้าหมู ฟาร์มหมู ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงานในเล้าหรือในฟาร์มหมู หลังปฏิบัติงานเสร็จให้อาบนำชำระร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลที่มือหรือที่เท้าควรหลีกเลียงการสัมผัสหมู หากจำเป็นต้องใส่ถุงมือยางป้องกัน ประการสำคัญห้ามนำหมูที่ป่วยตายมาชำแหละอย่างเด็ดขาด และดูแลความสะอาดฟาร์มเลี้ยงหรือเล้าให้สะอาด หากประชาชนมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0 2590 3187 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
***************************** 8 มิถุนายน 2557