ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมผู้เชี่ยวชาญจาก 161 ประเทศสมาชิกภาคีควบคุมยาสูบโลกร่วมพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายควบคุมยาสูบก่อนนำไปใช้เป็นกฎหมายทั่วโลก โดยจะเพิ่มการควบคุมการโฆษณาข้ามพรมแดน บุหรี่เถื่อน การเก็บภาษีในร้านค้าปลอดอากร และการประกาศเขตปลอดบุหรี่ องค์การอนามัยโลกชี้ควันบุหรี่เป็นค็อกเทลพิษเคมีกว่า 4,000 ชนิด หากทุกประเทศไม่จับมือกันป้องกัน คาดในปีพ.ศ. 2642 บุหรี่จะปลิดชีวิตชาวโลกปีละ 1,000 ล้านคน พร้อมทั้งโชว์นาฬิกาแห่งความตายของคนทั่วโลกจากบุหรี่ที่หน้าห้องประชุมด้วย
บ่ายวันนี้ (30 มิถุนายน 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมเวทีประชุมองค์กรเอกชนนานาชาติ เกี่ยวกับบทบาทในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ในการประชุมภาคีสมาชิกใหญ่กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบของโลก ครั้งที่ 2 (Framework Convention on Tobacco Control : COP2) ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือฮู (WHO: World Health Organization) มอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม มีผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบจาก 161 ประเทศภาคีสมาชิกประมาณ 800 คน เข้าประชุมระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 6 กรกฎาคม 2550 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC) กทม.
และกล่าวขอบคุณองค์กรเอกชนและภาคประชาชนที่ช่วยผลักดัน ให้ความร่วมมือในการรณรงค์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ให้เห็นโทษ พิษภัยของบุหรี่ สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะองค์กรเอกชนของไทย ทำให้มาตรการควบคุมยาสูบของไทยมีความเข้มแข็งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และประสบผลสำเร็จในการควบคุมบุหรี่ในระดับแนวหน้าของโลก เป็นแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ ซึ่งในช่วงเย็นวันนี้ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุมเพลนนารี่ ฮอล ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC)
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ออกกฎหมายควบคุมยาสูบ(Framework Convention on Tobacco Control) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 ขณะนี้มีประเทศที่ร่วมลงสัตยาบันรับรองกฎหมายดังกล่าวแล้ว 161 ประเทศ ประเทศไทยได้ลงในอันดับที่ 36 วัตถุประสงค์สำคัญของการออกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือระดับนานาชาติในการควบคุมการแพร่ระบาดของยาสูบ และเพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็กและวัยรุ่น ประชาชนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งมีกว่า 5,000 ล้านคนจากควันบุหรี่มือสอง โดยควันของบุหรี่เป็นค็อกเทลรวมของสารพิษต่างๆ กว่า 4,000 ชนิด มีคนสูบวันละ 15,000 ล้านมวน
จากการประเมินสถานการณ์บุหรี่ทั่วโลกล่าสุด มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1,300 ล้านคน กว่าร้อยละ 50 อยู่ในเอเชีย ผู้สูบกว่าร้อยละ 50 จะต้องเสียชีวิตก่อนถึงวัยชรา และต่อวันจะมีวัยรุ่นกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 80,000 -100,000 คนทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 5 ล้านคน หากไม่มีการรณรงค์ควบคุมยาสูบอย่างจริงจัง คาดว่าในปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือประมาณ 10 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 19 คน โดยร้อยละ 70 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และจะเพิ่มเป็น 1 พันล้านคนในปลายศตวรรษที่ 21 หรือ พ.ศ. 2642 เฉลี่ยวินาทีละ 32 คน เมื่อเปรียบเทียบการใช้เงินซื้อบุหรี่ 1 แพ็คหรือ 10 ซอง จะมีมูลค่าเท่ากับซื้อของที่มีประโยชน์กิน เช่นซื้อข้าวในลาวได้ 6 กิโลกรัม ซื้อปลาในประเทศเซอร์เบียได้ 7 ขีด ซื้อไข่ได้ 40 ฟองในประเทศแอลจีเรีย ส่วนที่อเมริกาสามารถนำเงินซื้อแอบเปิ้ลกินได้ 5-8 กิโลกรัม
ทั้งนี้กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบถือเป็นกฎหมายแม่ มีทั้งหมด 11 หมวด 38 มาตรา อาทิ มาตรการลดอุปสงค์ของยาสูบ เช่น ด้านราคาและภาษี การปกป้องบุคคลจากการสูดดมควันบุหรี่ การควบคุมสารในผลิตภัณฑ์ยาสูบ การแจ้งสารพิษในบุหรี่ การบรรจุหีบห่อและติดป้ายผลิตภัณฑ์ การโฆษณายาสูบ มาตรการลดอุปทานของยาสูบ เช่นการควบคุมการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย การขายแก่ผู้เยาว์และขายโดยผู้เยาว์ มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม มาตรการลงโทษตามกฎหมาย และมาตรการด้านบริหารจัดการ ความร่วมมือด้านต่าง ๆ
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ จะมีการนำเสนอร่างกฎหมายลูก ซึ่งเป็นรายละเอียดตามข้อกำหนดในกรอบอนุสัญญาดังกล่าว ให้ประเทศภาคีสมาชิกร่วมพิจารณาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับ และนำกลับไปประยุกต์เป็นกฎหมายในแต่ละประเทศทั่วโลก ได้แก่ การควบคุมการโฆษณาข้ามพรมแดน การควบคุมบุหรี่เถื่อน และการเก็บภาษีบุหรี่ในร้านค้าปลอดอากร การประกาศเขตปลอดบุหรี่ เพื่อปกป้องประชาชนรุ่นนี้และรุ่นต่อไป ที่ถูกบ่อนทำลายทั้งด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ จากการบริโภคยาสูบและควันบุหรี่ โดยไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมการพิจารณาทุกร่างกฎหมายด้วย มีนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพไทยเป็นหัวหน้าคณะ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป็นประเทศที่มีกฎหมายและนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบที่ครอบคลุมและเข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลก โดยได้ออกกฎหมายและใช้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ เช่น การกำหนดภาพคำเตือนข้างซองบุหรี่ เพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่เป็นร้อยละ 79 การห้ามโฆษณาส่งเสริมการขาย หรือเป็นผู้สนับสนุนต่างๆ และนำเงินภาษียาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 2 มาจัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งการห้ามโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย กว่า 500,000 จุดขายทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้สามารถลดการบริโภคยาสูบและอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยลงอย่างชัดเจน
อนึ่งในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมทำพิธีเปิดนาฬิกาแห่งความตาย (Death Clock) กับนายแพทย์อนาร์ฟี อสามัวร์-บาห์ (Dr. Anafi Asamoa-Baah) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เอกอัครราชทูตมาร์ทาบิท (Ambassador Martabit) และศาสตราจารย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเริ่มเดินเครื่องบันทึกจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2542 ในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการควบคุมบุหรี่โลก จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 8 ปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษบุหรี่ไปแล้วกว่า 33 ล้านคน โดยในช่วง 2 3 ปีแรกมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยนาทีละ 8 คนหรือปีละ 4 ล้านคน จากนั้นเพิ่มเป็นนาทีละ 9 คนหรือปีละประมาณ 5 ล้านคน และจะเริ่มนับต่อไปจนถึงการปิดประชุมในวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 นี้เพื่อบันทึกจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากบุหรี่ในช่วงระยะเวลา 7 วันของการประชุม COP2 โดยเดท คล็อกเครื่องนี้จะบันทึกจำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เพิ่มขึ้น 1 คนทุก 6.5 วินาที ตรงกับเครื่องที่ตั้งอยู่ที่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
**************************** 30 มิถุนายน 2550
View 14
30/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ