กระทรวงสาธารณสุข สั่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ   สำรองเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของประชาชน   พบผู้ถูกงูพิษกัดตลอดทั้งปี เฉลี่ยปีละ 7,723 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ร้อยละ 80 และมีรายงานถูกงูกัดในฤดูฝน เกือบร้อยละ 50 พร้อมย้ำเตือนวิธีการช่วยเหลือผู้ที่ถูกงูพิษกัด ห้ามใช้ปากดูดพิษงูจากแผลอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ได้รับพิษงูนั้นด้วยให้รีบพาไปโรงพยาบาล หรือโทรแจ้ง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
        นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนบางแห่งอาจมีน้ำท่วมขัง ทำให้สัตว์เลื้อยคลานหนีน้ำและอาจจะเข้ามาอยู่ในที่อยู่อาศัยของประชาชนได้ ที่น่าห่วงก็คืองูพิษ ซึ่งหากถูกกัดแล้ว อาจทำให้เสียชีวิตได้ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สถานบริการในสังกัด คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน สำรองเซรุ่มแก้พิษงูไว้ให้พร้อม ตามชนิดงูพิษที่พบบ่อย 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
        นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์งูพิษกัด สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงาน มีผู้ถูกงูพิษกัดตลอดทั้งปี ตั้งแต่ปี 2546-2555 เฉลี่ยปีละ 7,723 ราย ปี 2555 มีรายงานผู้ถูกงูกัดสูงสุดในเดือนพฤษภาคม รองลงมาคือ เมษายน และ มิถุนายน ตามลำดับ พบมากในกลุ่มอายุ 55-64 ปี ร้อยละ 88 อยู่ในชนบท โดย 2 ใน 3 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง พบมากที่สุดในภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ เกือบร้อยละ 50 ถูกกัดในช่วงฤดูฝน   ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ประชาชนทำงานในไร่นา หรือเป็น ช่วงที่มีน้ำท่วมขังมาก รวมทั้งพบในผู้ที่กรีดยางตอนกลางคืน   จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกงูกัดสูง จังหวัดที่มีอัตรา การถูกงูพิษกัดสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทุกๆ 1 แสนคน ได้แก่ อันดับ 1 ได้แก่ชัยนาท รองลงมาคือ กระบี่ จันทบุรี ปราจีนบุรี นครสวรรค์ ตรัง สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และมุกดาหาร ชนิดงูพิษ ที่กัด ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ ร้อยละ 9.66, งูกะปะ ร้อยละ 6.09, งูเห่า ร้อยละ 3.41, งูแมวเซา ร้อยละ 0.59, งูสามเหลี่ยม ร้อยละ 0.01, งูจงอาง ร้อยละ 0.06, อื่นๆร้อยละ80.11
                ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการสังเกตว่างูที่กัดเป็นงูมีพิษหรือไม่นั้น ขอให้ประชาชนดูจากรอยเขี้ยวงู หากเป็นงูพิษ รอยแผลจะมีขนาดเล็กคล้ายถูกเข็มตำ โดยปกติจะมี 2 รอย อยู่คู่กัน อย่างไรก็ตามในบางครั้งอาจจะเห็นเพียงรอยเดียว หากถูกกัดที่ปลายมือปลายเท้า
                ทั้งนี้พิษของงู ขึ้นอยู่กับชนิดของงู โดยงูที่มีพิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา เมื่อพิษเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และหยุดหายใจ   งูที่มีพิษต่อระบบเลือด ทำให้เลือดออกผิดปกติ ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ หลังถูกกัด จะมีเลือดซึมออกจากแผลรอยเขี้ยว หรือมีจ้ำเลือดที่บริเวณแผล มีเลือดออกตามไรฟัน บางรายอาจทำให้ไตวายได้
                นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ภายหลังถูกงูพิษกัด ประชาชนควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนถึงมือแพทย์ โดยให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทั่วไป ให้บีบเลือดออกจากบาดแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยขจัดพิษงูออกจากร่างกาย และโทรแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือให้รีบพาผู้ป่วยไป
                โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยพยายามให้อวัยวะที่ถูกกัดอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ควรใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ รองหรือดามไว้จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล เพื่อชะลอพิษงูซึมเข้าสู่ร่างกายช้าลงโดยอาจนำซากงูพิษที่กัดไปให้แพทย์ดูด้วยหากเป็นไปได้ สิ่งที่ไม่ควรทำในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกงูพิษกัด คือ 1. ห้ามใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่นๆ ทาแผล พอกแผล เนื่องจากอาจทำให้แผลติดเชื้อ 2. ไม่ควรกรีดแผล เนื่องจากจะทำให้พิษงูกระจายเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น และ 3. ไม่ควรใช้ปากดูดเลือดจากแผลงูกัด เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูดได้ และ 4. ห้ามให้ผู้ถูกงูกัดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน สำหรับการป้องกันงูกัด ควรเก็บกวาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้สะอาดหลีกเลี่ยงการเดินในบริเวณที่รกร้าง มีหญ้าขึ้นสูง โดยเฉพาะเวลากลางคืน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพกรีดยางตอนกลางคืน หรือ เช้ามืด ควรสวมรองเท้าบู๊ทยางยาวเหนือเข่า หุ้มกางเกง เพื่อเป็นเกราะป้องกันเขี้ยวงู    
************************   25 พฤษภาคม 2557


   
   


View 19    25/05/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ