วันนี้ (22 พฤษภาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่าสถานการณ์ไข้เลือดออกในไทยในปีนี้ พบอัตราการป่วยต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี สำนักระบาด กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557- 16 พฤษภาคม 2557 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 6,420 ราย เสียชีวิต 4 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1 กรุงเทพมหานคร 1,137 ราย รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช 265 ราย สงขลา 257 ราย สมุทรปราการ 248 ราย ชลบุรี 207 ราย อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าทั้งปีจะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 70,000 ราย และจะพบผู้ป่วยมากที่สุดในฤดูฝนนี้คือช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เนื่องจากมีแหล่งน้ำขังหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ เศษภาชนะต่างๆ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ และกาบใบไม้ เป็นแหล่งยุงลายวางไข่ เพาะพันธุ์ได้ โดยน้ำฝนเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด และช่วงนี้เป็นช่วงโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว เมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้นก็มีโอกาสกัดคนและแพร่ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการควบคุมไข้เลือดออกขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักป้องกันและควบคุมโรคทั่วประเทศ ทำการสำรวจลูกน้ำยุงลายช่วงฤดูระบาดในโรงพยาบาล โรงเรียน และศาสนสถานอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่าศาสนสถาน มีลูกน้ำยุงลายมากที่สุด จึงเป็นที่ซึ่งต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ โดยมีพื้นที่เสี่ยงไข้เลือดออกระบาดใน 197อำเภอ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียนและประชาชน ร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ตามแหล่งน้ำสะอาด ซึ่งเป็นวิธีการลดจำนวนตัวยุงลายตัวแก่อย่างได้ผลดีที่สุด ตามกิจกรรม 5ป 1ข ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย ส่วน 1ข คือ ขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่และให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งและทายากันยุง
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก จะเน้นการค้นหาผู้ป่วยโดยเร็ว หากประชาชนรายใดมรไข้สูงอย่างฉับพลัน ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ขอให้รีบพอผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆอย่างถูกต้อง จะป้องกันการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า กรณีที่มีผู้เป็นห่วงว่าจะมีการระบาดของไข้เลือดออก ในกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่กทม.และปริมณฑลนั้น ขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกในกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด โดยกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่ชัดเจน ยังไม่พบว่าบริเวณใดบริเวณหนึ่งพบการป่วยที่ผิดปกติ มีเพียงพบการติดเชื้อไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่จำนวนมาก และอยู่ใกล้ชิดกัน ดังนั้นหากผู้ชุมนุมป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้ป้องกันการแพร่เชื้อ โดยใส่หน้ากากอนามัย ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น ขอให้พักผ่อนให้มากๆ
**************************************** 22 พฤษภาคม 2557
View 23
23/05/2557
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ