กระทรวงสาธารณสุข วางระบบการจัดบริการด้านทันตกรรมและโรคในช่องปากในปี 2557 - 2560 เน้นหนัก 4 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เด็กก่อนวัยเรียน เด็กประถมศึกษา ให้เข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากป้องกันโรคมากขึ้น ให้คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพช่องปากได้ด้วยตนเอง ลดการสูญเสียฟัน ให้บริการใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุเร็วขึ้น ไม่ถึง 6 เดือน จัดอัตราทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันแพทย์ เพิ่มในโรงพยาบาลสังกัด เพื่อให้บริการประชาชนได้ทั่วถึง
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาระบบการจัดบริการด้านทันตกรรมและสุขภาพช่องปาก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และปัญหาฟันผุยังมีผลลุกลามไปอวัยวะอื่นๆได้ รวมทั้งโรคปริทัณฑ์ยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ทำให้ติดเชื้อง่าย อาการจะรุนแรงรักษายากขึ้น ตลอดจนโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงได้จัดประชุมชี้แจงทันตแพทย์จากทุกจังหวัดและเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต ซึ่งดูแลประชาชนจำนวนใกล้เคียงกันคือเขตละประมาณ 5 ล้านคน ในเรื่องการจัดบริการ ทั้งป้องกันรักษาส่งเสริมสุขภาพในช่องปาก เพื่อลดปัญหาฟันผุ รวมทั้งโรคปริทันต์ต่างๆ ทั้งภายในเขตและภายในจังหวัด โดยบริหารจัดการทรัพยากรทั้งบุคลากรคือทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เครื่องมือ และงบประมาณร่วมกัน มีทิศทางการพัฒนาตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ จนถึงระดับเชี่ยวชาญอย่างชัดเจน และให้กรมอนามัย จัดระบบเฝ้าระวัง ทำแผนบูรณาทันตแพทย์ตามกลุ่มวัยการบริการ ติดตามศึกษาวิจัยประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพช่องปาก ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับเขต และระดับประเทศ เพื่อวางยุทธศาสตร์แก้ไขตามกลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุด
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า แม้ว่าผลสำรวจปัญหาโรคฟันในภาพรวมระดับประเทศในปี 2555 จะดีขึ้น เด็กอายุ 3 ปี และ 5 ปี ฟันผุน้อยลง แต่เด็กในชนบทมีปัญหารุนแรงกว่าเด็กที่อยู่ในเขตเมืองและกทม. ทิศทางการพัฒนาบริการในปี 2557-2560 จะเน้นหนัก 4 กลุ่ม เพื่อส่งเสริมการป้องกันมากขึ้น คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีปีละประมาณ 8 แสนคน เพื่อให้สอนการทำความสะอาดปากลูกให้เป็น กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีประมาณ 1.6 ล้านคน ทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเป็นการป้องกันปัญหาฟันน้ำนมผุ กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน 3-5 ปีประมาณ 2 ล้านกว่าคน โดยการเพิ่มศักยภาพให้คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุที่ดูแลกลุ่มเด็กเป้าหมาย ให้มีความรู้ ทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากได้ด้วยตนเอง และเด็กประถม 1 อายุ 7 ปี จะเน้นการสอนการแปรงฟันถูกวิธีและเคลือบหลุมร่องฟัน ป้องกันฟันแท้ผุ สูญเสียฟัน พฤติกรรมนี้จะติดตัวไปจนถึงผู้ใหญ่ รวมทั้งการจัดบริการใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุเร็วขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องรอคิวนาน ที่ผ่านมาบางแห่งต้องรอถึง 6 เดือน
ด้านทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้การเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมของประชาชนยังค่อนข้างต่ำ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 พบเข้าถึงเพียงร้อยละ 10 ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากขาดแคลนบุคลากร ในปี 2557 มีทันตแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในสังกัด 5,596 คน ทันตาภิบาล 6,564 คน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการมากขึ้นถึงร้อยละ 20 ควรมีทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์เพิ่มขึ้นทั้งนี้ ในการจัดบริการทันตกรรม จะให้ทันตแพทย์เป็นหัวหน้าทีมลงไปดูในระดับตำบล โดยเป็นพี่เลี้ยงดูแล ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทั้งด้านการรักษา บริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปาก กำหนดนโยบายและวางแผนการทำงานสอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ ติดตามประเมินผล และเพิ่มทักษะ ให้ความรู้ในการแลสุขภาพช่องปากแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
*****16 พฤษภาคม 57
View 23
16/05/2557
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ