กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยประชาชนกินไข่แมงดาทะเล ทั้งเมนูเผาหรือยำ ในช่วงหน้าร้อนนี้ เสี่ยงอันตรายจากพิษของไข่แมงดา  โดยเฉพาะไข่แมงดาถ้วย ซึ่งจะมีความเป็นพิษสูงในช่วงกุมภาพันธ์  -มิถุนายน  พิษรุนแรงเหมือนพิษปลาปักเป้า ความร้อนทั้งจากการต้ม ทอด ปิ้ง ย่าง ทำลายพิษไม่ได้ ในปีนี้ พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากกินไข่แมงดาทะเล 17 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดตราด  แนะหากมีอาการสงสัยหลังกิน เช่น ลิ้นชา ชารอบปาก ให้รีบพบแพทย์    

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 12 มีนาคม 2557  ได้รับรายงานจากสำนักระบาดวิทยา  พบเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากรับประทานไข่แมงดาทะเลเผาและยำ  ในจังหวัดตราด 5 เหตุการณ์ ผู้ป่วยรวม 17 ราย เสียชีวิต 1 ราย  โดยผู้ป่วยที่ได้รับรายงานอยู่ใน4 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองใหญ่ 3 ราย อ.เมือง 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย   อ.เขาสมิง 1 ราย และ อ.แหลมงอบ 8 ราย อาการของผู้ป่วยที่พบคือชาที่ปาก ลิ้น  แขน ขา และลำตัว  พูดไม่ชัด   อาเจียน   เวียนศีรษะ

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า  แมงดาทะเลมีอยู่ 2 ชนิดคือ แมงดาจานหรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยม  มีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย และแมงดาถ้วย ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อได้แก่ แมงดาทะเลหางกลม หรือ เห-รา   หรือแมงดาไฟ  ตัวมีขนาดเล็กกว่าแมงดาจาน และตัวมีสีส้มหรือน้ำตาลเข้ม  อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน ลักษณะแตกต่างของแมงดา 2 ชนิดนี้ สังเกตได้ที่หาง  โดยแมงดาจานจะมีหางเหลี่ยม  ส่วนแมงดาถ้วยมีหางกลม แมงดาที่ไม่มีพิษ และรับประทานได้ คือ แมงดาจาน  ส่วนแมงดาที่มีพิษ รับประทานไม่ได้ คือ แมงดาถ้วย  ซึ่งโดยตัวของมันเองไม่สร้างพิษ  แต่สารพิษเกิดมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1.แมงดาถ้วยไปกินตัวแพลงก์ตอนที่มีพิษ หรือกินหอย/หนอนที่กินแพลงก์ตอนที่มีพิษเข้าไป ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย   2.เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ของแมงดาถ้วยสร้างพิษขึ้นมาได้เอง  จึงขอย้ำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการรับประทานไข่แมงดาในช่วงนี้  

          ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มิถุนายนทุกปีจะมีการเจริญแพร่พันธุ์ของแพลงก์ตอนที่สร้างสารพิษจำนวนมาก แมลงดาถ้วยจะกินแพลงก์ตอนนี้ และพิษจะไปสะสมที่ไข่ เมื่อคนกินไข่แมงดาจะทำให้ได้รับพิษจำนวนมาก เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและรวดเร็วภายใน 10-45 นาทีหลังรับประทานเข้าไป โดยจะชารอบปากและลิ้น บางรายอาจมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน ชาตามปลายนิ้วมือและเท้า และมีอ่อนแรงของปลายมือและเท้า  กลืนลำบาก หนังตาตก หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้  

 สารพิษที่พบในไข่ของแมงดาถ้วย คือเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) และเซซิท็อกซิน (Sasitoxin)ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า  สารพิษนี้ทนทานความร้อนสูงมาก  การต้ม ทอด ย่าง หรือปิ้งไม่สามารถทำลายพิษได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรกินไข่แมงดาทะเลในช่วงเวลานี้ เนื่องจากอาจมีไข่แมงดาถ้วยที่มีพิษอันตรายปะปนอยู่กับไข่แมงดาจานที่กินได้ ซึ่งไข่มีลักษณะเหมือนกัน  จึงมีโอกาสเสี่ยงได้รับพิษจากแมงดาทะเลที่มีพิษโดยไม่รู้ตัว                                                                     

     นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า  สำหรับผู้ที่ชื่นชอบรับประทานไข่แมงดาทะเล หากพบว่าหลังจากรับประทานอาการชาที่ปาก ลิ้น แน่นหน้าอก  หายใจไม่ออก  ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และแจ้งแพทย์ว่ารับประทานไข่แมงดาทะเล เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที เช่นการล้างท้อง และอาจใช้เครื่องช่วยหายใจประคับประคองอาการ ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษจากแมงดาทะเลโดยเฉพาะ ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

******************************** 20 เมษายน 2557



   
   


View 17    20/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ