ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่ติดเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมิร์สคอฟ เน้นพิเศษในกลุ่มที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน และมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่พบผู้ป่วย แนะวิธีการป้องกันให้กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ คาดหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัดทุกครั้ง รวมถึงไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เผยผลการเฝ้าระวังที่ผ่านมาไทยยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย
          จากกรณีที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนคนไทยในภาคตะวันตกของประเทศซาอุดีอาระเบีย ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012หรือเมิร์สคอฟ (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2557 ภายหลังมีรายงานพบการแพร่ระบาดของโรคนี้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 และเริ่มพบผู้ป่วยในเมืองเจดดาห์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันตกของประเทศ นั้น
          ในวันนี้ (17 เมษายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ตื่นตัวในการเฝ้าระวังโรคนี้หลังจากที่เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 เป็นต้นมา และให้กรมควบคุมโรค ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่อาจวางใจได้ เนื่องจากยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องใน 11 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน และคูเวต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย ล่าสุดองค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 16 เมษายน 2557 พบผู้ป่วยยืนยัน 238 ราย เสียชีวิต 92 ราย
          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคนี้ ได้เน้นย้ำ 2 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน และมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่พบผู้ป่วย หากพบผู้ป่วยที่มีอาการที่กล่าวมาขอให้จัดไว้อยู่ในข่ายสงสัย ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส และ2.มอบให้กรมควบคุมโรควางแผนการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมประมาณ 10,000 คน ที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจจ์ประจำปี 2557 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้จัดทำคำแนะนำในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการชื่นชมจากประเทศต่างๆ เช่นอินโดนีเซียว่าไทยมีระบบในการดูแลป้องกันโรคแก่ผู้แสวงบุญที่ดี
          ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส จัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว เชื้อจะอยู่ในละอองน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม จากการวิเคราะห์อาการของผู้เชี่ยวชาญ พบว่าอาการของผู้ป่วยที่พบบ่อยคือมีไข้สูงร้อยละ 98 ไอร้อยละ 83 หายใจหอบร้อยละ 72 ถ่ายเหลวร้อยละ 26 อาเจียนร้อยละ 21 ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดร้อยละ 96 มีโรคประจำตัว 1 โรคหรือมากกว่า ได้แก่เบาหวาน รองลงมาคือความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และยังพบผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรคร้อยละ 72                         
          สำหรับด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย กรมควบคุมโรคได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างกรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค โดยมี รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และมีทีมให้คำปรึกษาด้านการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล โดยมีแพทย์หญิงจริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร เป็นประธาน
          นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วย ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และภายหลังสัมผัสสิ่งสาธารณะต่างๆ เช่น ปุ่มลิฟท์ ราวบันไดเลื่อน ลูกบิดประตู หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นหวัดและการอยู่ในสถานที่แออัด หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดคือ ไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วันให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาพร้อมบอกประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วัน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยดังกล่าวแต่ก็ต้องจัดระบบเฝ้าระวังในสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย โทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
************************************ 17 เมษายน 2557


   
   


View 17    17/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ