โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รับโทรศัพท์สายป่วน 1669  โทรแจ้งเท็จ สั่งอาหาร แซวเจ้าหน้าที่สาวที่ปฏิบัติในศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุ ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นชาย โทรศัพท์จากมือถือ พบ 2 จังหวัดใหญ่ ร้อยละ 50  ของสายจริง วอนผู้ปกครองตักเตือนบุตรหลานไม่ควรทำ เนื่องจากเป็นสายแจ้งความเป็นตายถึงแก่ชีวิต ผู้ที่มีความจำเป็นจริงอาจพลาดโอกาสนาทีรอดชีวิต 

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการให้บริการดูแลผู้เจ็บป่วยในเทศกาลสงกรานต์ ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ และที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยตรวจเยี่ยมที่ห้องฉุกเฉิน ศูนย์สื่อสารรับแจ้งเหตุ และตรวจเยี่ยม ที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุ เพื่อรับฟังปัญหาและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ( 15 เมษายน 2557) ว่า สถานการณ์การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรช่วงสงกรานต์ที่ จ.นครสวรรค์ ในช่วง 4 วันที่ผ่านมาในปีนี้ จำนวนครั้งการเกิดลดลง แต่มีความรุนแรงสูงขึ้น โดยพบการเสียชีวิตที่เกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 50 สาเหตุหลักมาจากการดื่มสุรา ขับขี่รถจักรยานยนต์ และไม่สวมหมวกกันน็อค ทำให้การบาดเจ็บรุนแรง โดยแพทย์รับตัวนอนโรงพยาบาล  68 ราย กว่าครึ่งบาดเจ็บที่ศีรษะ ใบหน้า สมองกระทบกระเทือน ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส ไม่รู้สึกตัวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวน 13 รา ย มากกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปีที่ผ่านมาร้อยละ 25  บางรายมีอาการน่าห่วงและความเสี่ยงพิการสูง ต้องใช้เวลารักษาฟื้นฟูนานกว่า 1 เดือน ซึ่งทีมแพทย์พร้อมให้การดูแลอย่างเต็มที่ตามที่ได้วางแผนไว้ 
 
ส่วนที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พบว่าแนวโน้มจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรลดลงอาการไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ใน 4 วันมานี้มีผู้บาดเจ็บเพียง 70 ราย รับตัวนอนโรงพยาบาลเพียง 12 ราย ส่วนใหญ่บาดเจ็บที่กระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากหลายฝ่ายช่วยกันรณรงค์ป้องกัน แต่ต้องทำต่อเนื่องไม่เฉพาะเทศกาล    
 
สำหรับการใช้บริการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือการแพทย์ฉุกเฉิน หมายเลข 1669 ได้รับรายงานจาก  เจ้าหน้าประจำศูนย์สื่อสารรับแจ้งเหตุของโรงพยาบาลทั้ง 2  แห่ง ว่า ตลอด 4 วันเทศกาลสงกรานต์ ประชาชน   โทรแจ้งมากขึ้นถึงร้อยละ 70 โดยโทรแจ้งเหตุเดียวกันซ้ำกันถึง 5 สาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แสดงว่าประชาชน ให้ความไว้ใจ 1669 และมั่นใจระบบการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ แต่เรื่องน่ากังวลในขณะเดียวกันก็คือ มีการใช้หมายเลข 1669 ไปในทางที่ผิด เช่น โทรสั่งพิซซ่า สั่งอาหารจานด่วน หรือโทรแจ้งข่าวเท็จ โทรลวนลามเจ้าหน้าที่ที่เป็นสุภาพสตรี พบร้อยละ 50 ของสายโทรจริงทั้งหมด เฉลี่ยวัน 40 -50 สาย 
 
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่าผู้ที่โทรป่วน ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น ใช้โทรศัพท์มือถือ มักโทรช่วงกลางวัน   จึงขอย้ำเตือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากสายด่วนกู้ชีพมีไว้เพื่อให้ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ในยามคับขัน เป็นนาทีแห่งชีวิตเป็นตายเท่ากัน การโทรก่อกวน จะทำให้ผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ พลาดนาทีการรอดชีวิต ซึ่งสายโทรแจ้งหมายเลข 1669 นี้ ที่โรงพยาบาลศูนย์จะจัดไว้ประมาณ 5-10 คู่สาย เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอความร่วมมือผู้ปกครอง ช่วยกันย้ำเตือนลูกหลานในเรื่องที่กล่าวมา เพื่อช่วยกันสร้างสำนึกการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่
 *************************** 15 เมษายน 2557
 


   
   


View 10    15/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ