กระทรวงสาธารณสุข เผยอุบัติเหตุฉลองสงกรานต์ปี 2557  ช่วง 3 วัน พบรุนแรงกว่าปีที่แล้ว  โดยมีผู้เสียชีวิตคาที่ร้อยละ 65  ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด บาดเจ็บสาหัสนอนโรงพยาบาล 2,884 ราย   มีการเรียกใช้สายด่วนกู้ชีพ 1669 ร้อยละ 25  เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเรียกใช้บริการ ชี้หากผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลและนำส่งโดยทีมแพทย์มืออาชีพ  จะช่วยลดการเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บได้มากกว่า  ส่วนผลการตรวจเหล้า  ตรวจผู้ฝ่าฝืนทั้งหมด 522 รายตักเตือน 330  ราย ดำเนินคดี 192 ราย
 
                วันนี้ (14 เมษายน 2557) นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์กู้ชีพ ในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในรอบ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 เมษายน 2557 ว่า จากการประเมินสถานการณ์ของอุบัติเหตุจราจรพบว่า ปีนี้ความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว พบว่ามีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ 65 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด บาดเจ็บสาหัสต้องนอนโรงพยาบาล 2,884 ราย  พฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด คือเมาสุรา และขับรถเร็วเกินกำหนด   ประเภทรถที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือจักรยานยนต์ รองลงมารถปิคอัพ  
 
ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งเหตุจากประชาชนทางสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669  จำนวน 12,578 ครั้ง  หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการทั้งหมด3,937 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 25นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล 2,441ราย โดยนำส่งภายในเวลา 10นาทีหลังรับแจ้งถึงร้อยละ 85 และมีผู้บาดเจ็บที่นำส่งโดยรถปฏิบัติการฉุกเฉินรอดชีวิต 2,364ราย คิดเป็นร้อยละ 97 และมีประชาชนผู้ประสบเหตุ ญาตินำส่งเอง 7,264 ครั้ง  
  
         นายแพทย์นพพร กล่าวว่า ในวันนี้ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 3 เรื่องใหญ่เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต คือ 1.เร่งรัดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน แจ้งเหตุเข้ามาทางสายด่วน 1669 ให้มากขึ้น  หากผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่มีมากกว่า 12,000 ทีมทั่วประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินอีกกว่า 120,000 คน ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ  จะมีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่านำส่งเอง และลดความเสี่ยงเกิดพิการซ้ำซ้อนจากการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธีลงได้ 2.ให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติสุราพ.ศ.2493 อย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีทันที 3.การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดด่านชุมชนต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปเพราะช่วยลดอุบัติเหตุในชุมชนลงได้ เนื่องจากอุบัติเหตุในช่วงนี้จะเป็นการเกิดในชุมชนโดยดูจากจำนวนผู้เสียชีวิตในวันที่ 13 เมษายน 2557 ที่ลดลงจาก 72 รายในปี 2556 เหลือ 63 ราย 
 
สำหรับผลการตรวจบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 11-13 เมษายน 2557  ตรวจรวมทั้งหมด 522ราย ที่ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น เลย ลำพูน เชียงใหม่ จันทบุรี และ กทม. พบผู้กระทำผิด ตักเตือน 330ราย และดำเนินคดี 192 ราย ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด รวม 113  ราย รองลงมาคือขายและดื่มนอกเวลา 34 ราย การลดแลกแจกแถม 22 ราย ขายในที่ห้ามขายรวม 11 ราย  ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 2 ราย และดื่มในสถานที่ต้องห้าม เช่น บนถนน สวนสาธารณะ 18ราย  ได้กำชับทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ประสานทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพสามิต ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง และหากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีทุกรายทันทีเช่นกัน  
 
  สำหรับโทษความผิดขายเหล้าดังนี้ 1.ขายในสถานที่ห้ามขาย มีโทษจำคุก 6  เดือน ปรับ 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.การโฆษณาเหล้า ลดแลกแจกแถม มีโทษจำคุก 1  ปี ปรับไม่เกิน 5000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายโดยไม่มีใบอนุญาต  มีโทษปรับไม่เกิน 2,000บาท 4.ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุก 1  ปี ปรับ 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5.สำหรับผู้ขายนอกเวลามีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6.ดื่มเหล้าบนรถ  มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 สำหรับสถิติอุบัติเหตุในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 13 เมษายน 2557 เกิดอุบัติเหตุ 689 ครั้ง เพิ่มขึ้น 34 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 747 คน เสียชีวิต 59 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ เมาสุรา ร้อยละ 42 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24 ยอดรวม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 เมษายน 2557 มีอุบัติเหตุสะสม 1,539 ครั้ง บาดเจ็บสะสม 1,640 คน เสียชีวิต 161 ราย
 
*****************************************14 เมษายน 2557
 


   
   


View 12    15/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ