วันนี้ (3 เมษายน 2557) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อหารือกำหนดทิศทางในการปฏิรูปการบริหารระบบสุขภาพของประเทศ หลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงวิธีการบริหารจัดการกองทุนในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
                นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขของประเทศ มีการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน ผลดีทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพได้มากขึ้น และสะดวก  โดยเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มจากปีละ 2 ครั้งในปี 2546 เป็น 3ครั้งในปัจจุบัน และเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยในจากร้อยละ 4เป็นร้อยละ 11 แต่ปัญหาที่พบจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วง 12ปีที่ใช้วิธีขับเคลื่อนการทำงานผ่านกลไกทางการเงิน หลากหลายกองทุนย่อยๆ และมีข้อทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถึงการดำเนินงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยบริการ รวมทั้งทำให้เกิดภาระในการทำรายงานกระทบกับหน้าที่ในการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ จึงต้องเร่งพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการระบบการเงินการคลังให้มีประสิทธิภาพ ไม่กระทบกับงานประจำของเจ้าหน้าที่

                “การที่ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี และได้ประโยชน์จากการเข้าถึงบริการ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่การบริหารระบบด้วยกลไกทางการเงินการคลัง ได้สร้างความทุกข์ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จิตวิญญาณในการให้บริการลดลง ทั้งจากความหลากหลายของกองทุน จำนวนรายงานที่ต้องจัดเก็บและนำส่งเพื่อแลกกับเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาดูแลส่งเสริมสุขภาพประชาชนลดลง กระทบประสิทธิภาพการทำงาน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ สปสช.ให้มีการบริหารจัดการระบบการเงินการคลัง ที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบบริหารแบบเขตบริการสุขภาพ  ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดภาระเรื่องรายงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ทุ่มเทเวลาในการบริการประชาชน เป็นการแก้ไขในระยะยาว” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
          ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการทักท้วงจาก สตง.ว่ามีการใช้เงินไม่ตรงตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 15จังหวัด มีการเรียกเงินคืน กว่า 500ล้านบาท  โดยสตง.ตรวจพบมา 2ปีแล้วและเคยทักท้วงไปที่ สปสช.แล้ว และในปีนี้ สตง.ได้ส่งเรื่องมาให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสอบข้อเท็จจริง โดยปัญหาอยู่ที่การบริหารงบประมาณที่ได้จากสปสช. ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดซึ่งทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัด  มี 5ประเด็นคือ 1.งบค่าบริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปอบรมพัฒนาบุคลากร การทำโครงการต่างๆ แทนที่จะส่งไปให้หน่วยบริการบริหารจัดการ  2.งบตามมาตรา 41ค่าเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ 3.งบบริการผู้ป่วยตามกองทุนต่างๆ เช่นไตวายเรื้อรัง ทันตกรรม ที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนตามภาระงานโดยตรงที่ตัวบุคคลแทนที่จะจ่ายให้กับหน่วยบริการ 4.งบลงทุนเพื่อการทดแทน (งบค่าเสื่อม)  และ5.การกันเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย เพื่อบริหารจัดการในระดับจังหวัด
          “ทั้ง 5ประเด็นที่สตง.ท้วงติงนั้น ปัญหาข้อใหญ่ 3ประเด็นคือ 1.การจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ของสำนักงานสาขาของ สปสช. ซึ่งเป็นงบด้านสุขภาพของประชาชน ที่ต้องจ่ายผ่านหน่วยบริการสุขภาพ แต่นำมาจ่ายผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัดตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งระเบียบนี้ไม่น่าจะถูกต้อง  กระทรวงสาธารณสุขกับสปสช.ต้องหารือกัน เพื่อทำให้ถูกต้องตามระเบียบเงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งจะได้มีการนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในบ่ายวันนี้  2.การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ที่ สปสช.จ่ายให้ตัวบุคคลโดยตรงนั้น ต้องหารือกันว่าจะใช้ระเบียบไหนในการจ่าย เพื่อให้ถูกต้อง และไม่เกิดความเลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพเดียวกัน รวมทั้งระหว่างหน่วยบริการ  3.งบลงทุนเพื่อการทดแทน หรืองบค่าเสื่อม ที่สตง.ทักท้วงในบางเรื่อง กระทรวงสาธารณสุขจะได้ทำหนังสือถึง สปสช.ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันในการแก้ปัญหา” นายแพทย์วชิระ กล่าว
                นายแพทย์วชิระกล่าวต่อไปว่า การดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการบริหารจัดการร่วมกัน และ ไม่ว่ากลไกการจ่ายเงินจะเป็นอย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะบริการที่มีคุณภาพ และเจ้าหน้าที่บริการมีคุณค่าและมีความสุขด้วย
******************************** 3 เมษายน 2557
 
 


   
   


View 11    03/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ