รัฐบาลไทยบริจาคเงิน 180 ล้านบาท ร่วมลงขันกองทุนโลก เพื่อต้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียในช่วง 5 ปีข้างหน้า นับเป็นประเทศกำลังพัฒนา 1 ใน 2 ประเทศในเอเชียที่ร่วมลงขัน และเป็นตัวอย่างของประเทศที่มียุทธศาสตร์พึ่งตนเองระยะยาว
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 20 ได้พบกับนายแพทย์มิเชล คาซัทไคลน์ (Dr.Micheal Kazatchkine) ผู้อำนวยการกองทุนโลกต้านเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย และได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีที่จะบริจาคเงินเข้ากองทุนฯ อีก 180 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ พ.ศ.2551-2555
กองทุนดังกล่าว ประเทศไทยได้ร่วมก่อตั้ง ตั้งแต่สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อพ.ศ.2544 และประเทศไทยก็เคยเป็นกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการบริหารของกองทุนนี้ ในช่วงปี 2545-2547 โดยไทยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าว จำนวน 220 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2551 และจะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องอีก
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เราจะต้องยืนหยัดด้วยตนเองในระยะยาว ในการแก้ปัญหาของเรา ดังนั้นเงินที่เราได้รับการสนับสนุนมาจากกองทุนโลกฯ จะมุ่งใช้เพื่อการพัฒนาคน พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ การตรวจวินิจฉัย และการดำเนินการป้องกันโรค ซึ่งจะได้ผลระยะยาว ส่วนการจัดซื้อยาต้านไวรัส และวัสดุจำเป็นต่างๆ เราจะใช้งบประมาณของเราเป็นส่วนใหญ่ เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ เราใช้งบประมาณของเราร้อยละ 90 และงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนนี้ น้อยกว่าร้อยละ 10 นายแพทย์มงคลกล่าว
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า การลงขันสนับสนุนของไทยครั้งนี้ นับเป็น 1 ใน 2 ประเทศเอเชียที่ร่วมลงขัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนต่อจากที่เคยสนับสนุนมาแล้ว 5 ปีแรก แม้จะเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณของกองทุนดังกล่าว ที่มีกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม แต่ก็มีผลกระตุ้นให้ประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ร่วมกันลงขันเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ นายแพทย์มิเชล คาซัทไคลน์ ผู้อำนวยการกองทุนฯ ได้ขอบคุณนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้นำข่าวดีจากรัฐบาลไทยและกล่าวแสดงความชื่นชมไทย ที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการควบคุมโรคทั้ง 3 รวมทั้งยุทธศาสตร์ที่จะพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้ระดับปานกลางอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ขอบคุณที่ประเทศไทยได้ส่งรองศาสตราจารย์ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญในทีมงานเตรียมการ ในการเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารกองทุนโลกฯ ของนายแพทย์มิเชลด้วย นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงของประเทศไทย
********************************** 27 มิถุนายน 2550
View 10
27/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ