รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยปัจจุบันผู้ผลิตสินค้านิยมใช้โฆษณาแฝง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ปี 2556 พบผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริงกว่า 9,000 รายการ เจตนาสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคและให้ผู้บริโภคจดจำตราสินค้า เร่งเร้าให้เกิดการบริโภคสินค้ามากกว่าปกติ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีโทษหากมีการบริโภคเกินความจำเป็นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เร่งให้ความรู้ประชาชนก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ยกระดับการส่งเสริมการบริโภคที่ถูกต้องแก่ประชาชน

          วันนี้ (26 มีนาคม 2557) ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประจำปี 2557 เรื่อง สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่ รู้ทันเทคโนโลยี รู้ดีโฆษณาเกินจริง และกล่าวว่า  ในยุคเสรีการค้าในปัจจุบัน  เป็นสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูง ผู้ประกอบการขาดการคำนึงถึงหลักสุจริตในการประกอบธุรกิจ และมีการใช้การโฆษณา กระตุ้นพฤติกรรมประชาชนในการบริโภคสินค้า   โดยเฉพาะการโฆษณาแฝง เช่น เครื่องดื่มกาแฟ  เครื่องดื่มกาแฟผสมสารสกัดที่มีคุณสมบัติด้านความงาม หรือเสริมสมรรถภาพทางเพศด้วย  ซึ่งจัดเป็นสินค้าประเภทให้โทษ โดยนำเสนอตราสินค้า โลโก้ ในลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างจากวิธีการโฆษณาเดิม ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง  สื่อออนไลน์ ป้ายโฆษณา เจตนาให้ผู้บริโภคจดจำตราสินค้า และกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้ามากกว่าปกติ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ในปี 2556 พบโฆษณาแฝง โฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์สุขภาพ 9,008 รายการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เพื่อดูแลกำกับการเผยแพร่โฆษณา และแจ้งไปยังผู้ผลิตสินค้าพร้อมทั้งดำเนินการปรับมีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาทจนถึง 200,000 บาท  

“ปัจจุบันกฎหมายควบคุมโฆษณา ยังขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ เนื่องจากคำว่า โฆษณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มีความหมายที่ไม่ครอบคลุมไปถึงโฆษณาแฝง จึงเป็นปัญหาของคำนิยามความหมาย  เป็นปัญหาทางกฎหมาย  อีกทั้งรัฐยังขาดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมการโฆษณาที่มีลักษณะดังกล่าว และรูปแบบวิธีการโฆษณาแฝงที่เป็นการเฉพาะ”   นายแพทย์ทรงยศ กล่าว

นายแพทย์ทรงยศ กล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับการโฆษณาแฝงและโฆษณาเกินจริง เพื่อให้รู้ทันเทคโนโลยี ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ พร้อมทั้งยกระดับการส่งเสริมภาวะโภชนาการแก่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ตามโครงการสุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ (Good Health Starts Here) 

ด้าน ดร.นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การประชุมวิชาการงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม 2557 เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ   มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคที่ทันต่อเหตุการณ์โดยได้จัดเวทีอภิปรายให้เจ้าหน้าที่รู้เท่าทันกระแสต่างๆ เช่น การทำตลาดเพื่อสังคม  เทคนิคโฆษณา รู้หน้าไม่รู้ใจ, ฉลากหวาน มัน เค็ม : บริโภคอย่างไรให้สุขภาพดี, นวัตกรรมความงามและข้อดีข้อเสีย ,เครื่องมือแพทย์ไทยก้าวไกลสู่เออีซี , การติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา (Pharmacovigillance), การกำจัดปลวก... หรือกำจัดใคร ยุทธศาสตร์และแนวทางการจัดการปัญหาการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง มีการนำเสนอผลงานวิชาการที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการคัดผลงานวิชาการอย่างเข้มข้น 16 เรื่อง ประกอบผลงานวิชาการด้านยา ความคุ้มค่าทาง-เศรษฐศาสตร์ และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา 7 เรื่อง ผลงานวิชาการด้านโฆษณา 4 เรื่อง ผลงานวิชาการด้านอาหาร 4 เรื่อง และผลงานวิชาการด้านงานคุ้มครองผู้บริโภค 1 เรื่อง        

          **********************        26 มีนาคม 2557

 



   
   


View 15    27/03/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ