ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมปรับระบบจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพระดับหมู่บ้านชุมชน ลดความซ้ำซ้อน นำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน  ตั้งคณะกรรมการทบทวนการจัดเก็บและคัดเลือกข้อมูลที่เป็นจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชน   เริ่มทดลองใช้ 1 ตุลาคม 2557                                              

           นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังภาระงานและปัญหาในการทำงานตามนโยบายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ว่า ขณะนี้หน่วยงานต่างๆทั้งระดับกรม กอง สำนักงาน กระทรวง มีความต้องการใช้ข้อมูลเพื่อการทำงานวิชาการและการวางแผนของหน่วยงานส่วนกลาง โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพของคนในระดับหมู่บ้าน ชุมชน ที่ต้องอาศัยจากผู้ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนคือ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. กลายเป็นภาระงานที่กระทบกับการดูแลสุขภาพประชาชนของเจ้าหน้าที่

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาสุขภาพในชุมชน ส่วนใหญ่เกิดมาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งพฤติกรรมเป็นเรื่องที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยการจัดการสุขภาพของเจ้าหน้าที่ระดับชุมชน ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะปฏิรูประบบการจัดเก็บข้อมูลให้ตรงกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ประกอบด้วยการเก็บข้อมูลเพื่อการทำงานด้านสุขภาพให้ประชาชนในชุมชน ข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์โรคและสุขภาพ และข้อมูลด้านทรัพยากรสุขภาพ ซึ่งต้องมีกระบวนการที่ต่างกัน และไม่เป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่  โดยข้อมูลที่พื้นที่รับผิดชอบ ควรเป็นข้อมูลไปใช้ในการทำงานแก้ไขปัญหา ส่วนข้อมูลอื่นๆที่กรม กอง สำนักงาน หน่วยงานอื่นๆต้องการต้องมีระบบสุ่มสำรวจ (Survey)  แยกเฉพาะไป

          โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการทบทวนการจัดเก็บข้อมูล มีนายแพทย์สุเทพ ปิยวัชรานันท์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่ต้องการใช้ข้อมูล เช่น กรมวิชาการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์  สำนักงานงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เสนอข้อมูลที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บหรือดำเนินงาน โดยจะเลือกข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อประชาชน รวมทั้งหารือกับสมาคมหมออนามัยด้วยในเรื่องของการพัฒนาบทบาทและการดำเนินงานของรพ.สต.เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงด้านต่างๆในพื้นที่  คาดว่าจะเริ่มทดลองในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 นี้

            “ ทั้งนี้ควรมีการจัดระบบข้อมูลเพื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์  เช่น จังหวัดควรเปลี่ยนการกำกับด้วยรายงานเป็นการนิเทศงาน  ดูการทำงานในพื้นที่จริงไม่ใช่รอรายงาน  หรือต้องการนำไปเพื่อจัดสรรทรัพยากร ก็ต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานที่มีอยู่ เพราะข้อมูลที่จำเป็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง บัญชีรายรับรายจ่าย เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทุกแห่งต้องจัดเก็บตามกฏหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจัดเก็บเพิ่ม และควรนำเทคโนโลยีมาใช้ให้การทำงานสะดวกและเกิดประโยชน์”   นายแพทย์ณรงค์กล่าว

          นายแพทย์บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการสำนักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพประชาชน เป็นกระบวนการงานในรพ.สต.  ปัญหาที่พบขณะนี้ คือการขาดการเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ มีทั้งความซ้ำซ้อน  มีการสร้างเงื่อนไขในการจัดเก็บ ทั้งด้านวิชาการ ค่าตอบแทน และการกำกับการทำงานด้วยรายงาน ทำให้การจัดเก็บเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการข้อมูลของหน่วยงาน และกลายเป็นภาระงานของผู้จัดเก็บ  

          อย่างไรก็ตาม ในการเริ่มต้นปรับระบบนั้น จะเริ่มปรับในบางข้อมูล ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการทบทวนด้านข้อมูล  เพื่อลดผลกระทบด้านรายได้ของเจ้าหน้าที่ที่เคยได้รับ  เพิ่มความครอบคลุมของการจ่ายค่าตอบแทน  และต้องคงการจัดเก็บรายงานในเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพื่อการใช้ในการทำงานเป็นหลัก และไม่เพิ่มภาระแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่

 

   *******************************   23 มีนาคม 2557



   
   


View 14    23/03/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ