สธ. ปรับ 5 มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับมือฝุ่น PM 2.5 เน้นสื่อสารความรู้ ดูแลกลุ่มเสี่ยง จัดอุปกรณ์สนับสนุน พร้อมเชิญชวน “ลดเผา ลดธูป ลดฝุ่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน”
- สำนักสารนิเทศ
- 171 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผยวันที่ 20 มีนาคมทุปี เป็นวันความสุขสากล ผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติล่าสุดในปี 2555 ระบุประเทศไทยมีความสุขอยู่ในลำดับที่ 36 ของโลก เป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน โดยผลสำรวจความสุขคนไทยโดยใช้องค์ประกอบความสุขจากครองครัว ล่าสุดในปี 2555 พบคนไทยมีคะแนนความสุขในครอบครัวเฉลี่ย 7.17 คะแนนจากเต็ม 9 คะแนน จังหวัดยโสธรครองแชมป์สูงที่สุดได้ 8.35 คะแนน รองลงมาคือสุรินทร์ ตรัง นครพนม ปทุมธานี โดยจังหวัดสมุทรสงครามมีคะแนนน้อยที่สุด เร่งพัฒนาระบบสุขภาพ เน้นจัดบริการร่วมกันในระดับจังหวัดและระดับเขต เขตละ5-7 จังหวัด เพื่อสร้างสุขภาพดี รักษาอาการเจ็บป่วย และลดป่วยคนไทย หวังโดนใจ สร้างความสุขคนไทย อายุยืน 80 ปี และอยู่อย่างมีสุขภาพดีให้ได้จนถึงอายุ 72 ปี
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 20 มีนาคม ทุกปี องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) ได้ประกาศให้เป็นวันความสุขสากล (The International Day of Happiness) เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา เพื่อเชิญชวนประเทศสมาชิกทั่วโลก ให้ความสำคัญกับความสุข ในฐานะที่เป็นเป้าหมายพื้นฐานของชีวิต และได้เสนอให้กำหนดเรื่องของความสุข เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายสาธารณะด้านต่างๆ และยังได้เสนอให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปเพื่อความผาสุกของประชาชนโดยรวม ก่อให้เกิดความเป็นธรรมและพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตทางสังคมอีกด้วย
องค์การสหประชาชาติ ได้สำรวจระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลกในปี 2553- 2555 พบว่าประเทศที่มีความสุขอันดับ1 ในโลกคือเดนมาร์ก ส่วนไทยอยู่ในลำดับที่ 36 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 2 ในอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 30 ระบุว่า ปัจจัยความสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ได้แก่ รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจกันในชุมชน มีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม ส่วนปัจจัยความสุขที่สำคัญในระดับบุคคลได้แก่ การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพการงานและครอบครัว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต ล่าสุดในปี 2555 พบว่าคนไทยทั่วประเทศอายุ 15 ปีขึ้นไป มีคะแนนความสุขในชีวิต ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญคือความสุขในครอบครัว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.17 คะแนน จากคะแนนเต็ม 9 คะแนน จังหวัดที่มีคะแนนความสุขในครอบครัวมาก 10 อันดับแรกได้แก่ 1.ยโสธร ได้ 8.35 คะแนน 2.สุรินทร์8.03 คะแนน 3.ตรัง7.97 คะแนน 4.นครพนม 7.96 คะแน5.ปทุมธานี7.85 คะแนน 6.ยะลา 7.83 คะแนน 7.เพชรบูรณ์ 7.77 คะแนน 8.น่าน 7.77คะแนน 9.พิจิตร 7.75 คะแนน และ 10.ชัยภูมิ 7.75 คะแนน ส่วนจังหวัดที่มีคะแนนน้อย 3 จังหวัด ได้แก่สมุทรสงคราม 5.39 คะแนน ปัตตานี 6.06 คะแนน สระแก้ว 6.10 คะแนน
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งให้คนไทยมีความสุข ได้แก่ ครอบครัวมีเวลาให้กันอย่างเพียงพอ มีสุขภาพดี ออกกำลังกายประจำ ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา การทำสมาธิ มีรายได้ดี การงานมั่นคง ไม่มีหนี้สินนอกระบบ เกษตรกรมีที่ดินทำกิน กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ในรูปเขตบริการสุขภาพ มีทั้งหมด 12 เขต เพื่อดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเท่าเทียม เชื่อมโยงตั้งแต่สถานพยาบาลขนาดเล็กจนถึงระดับเชี่ยวชาญ เสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน ขณะนี้ก้าวสู่ปีที่ 2 จะสมบูรณ์แบบในปี 2559 ตั้งเป้าอีก 10ปี คนไทยจะมีอายุยืนเฉลี่ย 80 ปี และอยู่อย่างมีสุขภาพดีจนถึงอายุ72 ปี
ทางด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การมีความสุขในชีวิต สะท้อนได้จากการมีความสุขในครอบครัว โดยดูจาก 3 ปัจจัยได้แก่ 1.การดูแลของครอบครัวเมื่อสมาชิกป่วยหนัก 2.ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่ออยู่ภายในบ้าน และ3ครอบครัวมีความรักความผูกพันอันดีต่อกัน
ทั้งนี้วิธีสร้างสุขสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถทำได้ง่ายๆ10ประการดังนี้ 1.ออกกำลังกายวันละ30นาทีอย่างน้อย3ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ทำให้นอนหลับดี รู้สึกสมองปลอดโปร่งหลังตื่นนอน 2.ก่อนเข้านอนทุกคืน ลองทบทวนสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างน้อย 5 เรื่องต่อวัน 3.ให้เวลาพูดคุยรับฟังคู่ครอง เพื่อนสนิท อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ในทุกๆ สัปดาห์ โดยไม่มีใครเข้ามาขัดจังหวะหรือรบกวน 4.ปลูกต้นไม้ ต้นเล็กๆ ตั้งบนโต๊ะ หรือในกระถางก็ได้ แล้วดูแลรักษาให้ดี 5.ลดเวลาดูทีวีลงครึ่งหนึ่ง 6.ยิ้มและทักทายคนที่ไม่รู้จักอย่างน้อยวันละครั้ง 7.หาโอกาสพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่ห่างกันไปลองนัดหมายเพื่อพบเจอกันบ้าง8.หัวเราะให้มากและนานพอทุกๆวัน 9.ใส่ใจดูแลตนเองในทุกๆวันใช้เวลาลองทำบางสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับตัวเอง และ10.ลองฝึกเป็นผู้ให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความใส่ใจมองสิ่งดีๆให้คนอื่นบ้าง
“ ขอแนะนำว่า ผู้ที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ควรจัดเตรียมต้นทุนด้านสุขภาพ การเงิน สายสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี เนื่องจากจะมีผลต่อความสุขในระยะยาวของชีวิต และหากมีผู้สูงอายุในบ้าน ควรให้ท่านได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างสายสัมพันธ์และความรู้สึกมีคุณค่า นอกจากนี้ การศึกษาและปฏิบัติธรรมนับเป็นปัจจัยความสุขสำคัญของผู้สูงอายุ ที่ควรเข้าถึงตั้งแต่ในวัยทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งกรมสุขภาพจิต ได้สนับสนุนชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้มีกิจกรรมความสุขและปรับพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อเติมความสุขให้กับประชากรกลุ่มสำคัญนี้” นายแพทย์เจษฎากล่าว
***************************************** 20 มีนาคม 2557