กระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางประจำปีครั้งที่ 35 มีของกลางรวมทั้งหมด 2,924.69 กิโลกรัม 5.99 ลิตร มูลค่ากว่า 3,600 ล้านบาท ยาบ้ายังครองสถิติสูงอันดับ 1 ด้านผลการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยารอบ 6 เดือนปีนี้ มีผู้ติดยาทั่วประเทศผ่านการบำบัดเกือบ 3 หมื่นราย เผยลักษณะการเสพใช้ยา 2 ชนิดผสมกันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มอันตรายต่อสมองหลายเท่าตัว วันนี้ (26 มิถุนายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดของกลาง ครั้งที่ 35 ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ร่วมพิธีด้วย ยาเสพติดที่กระทรวงสาธารณสุขเผาทำลายครั้งนี้ น้ำหนักรวม 1,122.91 กิโลกรัม และมีชนิดน้ำ 5.99 ลิตร จาก 12,672 คดี รวมมูลค่า 3,600 ล้านบาท ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า จำนวน 833.32 กิโลกรัม ประมาณ 9.25 ล้านเม็ด เฮโรอีน 59.32 กิโลกรัม ฝิ่น 20.41 กิโลกรัม ยาอี 6.6 กิโลกรัม ประมาณ 26,396 เม็ด โคเคน 6.65 กิโลกรัม กัญชา 0.86 กิโลกรัม โคเดอีนชนิดเม็ด 186 กิโลกรัม และชนิดน้ำ 5.99 ลิตร และวัตถุออกฤทธิ์อื่นๆ อีก 9.75 กิโลกรัม โดยในการเผาครั้งนี้ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้นำกัญชาและยางกัญชา มาร่วมเผาทำลายอีกจำนวน 1,801.78 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 14 ล้านบาท รวมทั้งหมด 2,924.69 กิโลกรัม 5.99 ลิตร มูลค่ากว่า 3,614 ล้านบาท การเผาทำลายยาเสพติด จะใช้วิธีที่เรียกว่าไพโรไลติก อินซินเนอเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้โมเลกุลในยาเสพติดเกิดการสลายตัว เป็นผงคาร์บอนในเวลาที่รวดเร็ว และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด นายแพทย์มรกตกล่าวว่า ประเทศไทยได้เอาจริงเอาจังในการแก้ไขเพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากการเสพยา เน้นการควบคุมสารตั้งต้นที่ลักลอบนำมาผลิต การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อคืนคนดีสู่สังคม มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง เปิดการบำบัดใกล้บ้านผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อสามารถติดตามผลได้สะดวก ตั้งเป้าหมายบำบัดผู้ติดยาให้ได้ปีละ 30,000 ราย จากผลการดำเนินการบำบัดผู้ติดยาเสพติดทั้ง 3 ระบบ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 – 31 มีนาคม 2550 พบว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดทั้งหมด 28,137 ราย แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 5,266 คน ระบบบังคับบำบัด 15,475 ราย และ ระบบต้องโทษ 7,376 ราย เฉพาะที่สถาบันธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี พบว่าในปี 2550 มีผู้เข้ารับการรักษาทั้งหมด 3,840 ราย ร้อยละ 81 เป็นผู้ชาย ผู้เสพร้อยละ 33 เป็นผู้ว่างงาน และอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและเขตภาคกลางร้อยละ 80 โดยติดยาบ้าสูงถึง 2,071 ราย คิดเป็นร้อยละ 54 ของผู้ที่เข้ารับการรักษาทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 20 – 29 ปี จำนวน 1,505 ราย คิดเป็นร้อยละ 39 หรือพบผู้ติดยาบ้าได้ 1 ราย ในผู้ป่วยทุก 3 ราย โดยใช้การเสพโดยสูบ สาเหตุส่วนใหญ่ที่เสพยาเสพติด เกิดจากเพื่อนชักชวนสูงถึง 1,616 ราย คิดเป็นร้อยละ 42 รองลงมาคือ อยากทดลองจำนวน 1,528 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อวิเคราะห์ลักษณะการใช้ยาเสพติดในปี 2550 พบว่าเปลี่ยนแปลงจากเดิม และเพิ่มอันตรายต่อผู้ใช้มากขึ้น โดยในปี 2548 ใช้ยาเสพติดชนิดเดียวร้อยละ 85 ลดลงเหลือร้อยละ 80 และหันมาใช้ 2 ชนิดร่วมกันเพิ่มจากเดิมที่พบไม่ถึงร้อยละ 1 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 2 ในปี 2550 และใช้ 2 ชนิดสลับกันเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 14 ในปีเดียวกัน ซึ่งยาเสพติดที่ใช้ 2 ชนิดร่วมกันจะเป็นการกระตุ้นเสริมฤทธิ์ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ทำร้ายระบบประสาท สมอง ได้มากกว่าและเร็วกว่าการใช้ยาเสพติดชนิดเดียวหรือการใช้แบบสลับกัน นายแพทย์มรกตกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายให้สถาบันธัญญารักษ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบำบัดผู้ติดยา เปิดสายด่วนปรึกษาปัญหายาเสพติดแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ทางหมายเลข 1165 เฉลี่ยวันละ 15-25 ราย ร้อยละ 90 มักถามเกี่ยวกับสถานที่บำบัดรักษา เนื่องจากมีคนในครอบครัวติดและต้องการบำบัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครอง ส่วนอีกร้อยละ 10 จะโทรแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด ************************************26 มิถุนายน 2550


   
   


View 35       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ