กระทรวงสาธารณสุขส่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ลงพื้นที่ตรวจสอบ ประเมินผลกระทบที่เกิดจากไฟไหม้บ่อขยะที่บางปู จ.สมุทรปราการ และตรวจวัดค่าสารอันตราย 4 ชนิดที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ ฟอร์มาดีไฮด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ก่อระคายเคืองระบบทางเดินหายใจทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาว ย้ำเตือน 4 กลุ่มเสี่ยงอาจได้รับอันตรายได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคประจำตัวเช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ เลี่ยงอยู่ใกล้ พร้อมแจกหน้ากากอนามัยกว่า 5,000 ชิ้นให้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงใช้ป้องกันการสูดดมควันไฟ เบื้องต้นได้รับบาดเจ็บ 2 ราย อาการปลอดภัยกลับบ้านแล้ว

จากกรณีไฟไหม้ที่บ่อขยะขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่ภายในซอย8 นิคมอุตสาหกรรมบางปู หมู่ 4  ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เหตุเกิดเมื่อวานนี้(16 มีนาคม 2557) ซึ่งบ่อขยะดังกล่าวมีขยะทับถมกันสูงหลายเมตรและถูกสิ่งปิดมานานหลายปี แต่ยังมีการลักลอบนำขยะมาทิ้งเป็นประจำ

          เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวในวันนี้(17 มีนาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปดูแล ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากควันไฟ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)แพรกษา อสม.ร่วมกับอบต.แพรกษา แจกหน้ากากอนามัย 5,600 ชิ้น เพื่อป้องกันการสูดละอองควันไฟเข้าปอด และดำเนินการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในรัศมีรอบบ่อขยะที่สำคัญ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคปอด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการกำเริบได้ง่ายและได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคส่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ ลงไปประเมินผลกระทบสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อวางแผนแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 2 ราย รายแรกเป็นอาสาดับเพลิงชาย อายุ 17 ปี สำลักควันไฟหายใจไม่ออกทีมแพทย์ฉุกเฉินนำตัวส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ ขณะนี้อาการดีขึ้นและกลับไปพักผ่อนที่บ้าน รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 35 ปี หายใจไม่ออกเช่นกัน ไปรักษาที่โรงพยาบาลเปาโล(เมโมเรียล) สาขาสมุทรปราการ อาการดีขึ้นกลับบ้านแล้ว ขอแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการสูดควันไฟ  หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน  ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากจมูก   หากเกิดอาการระคายเคือง เช่นแสบตา หรือใจสั่น แน่นหน้าอก ขอให้พบแพทย์ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้

          ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้กรมควบคุมโรคได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ 1 ทีม เพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากควันไฟเผาไหม้ขยะ โดยทีมจะทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อวัดมลพิษในอากาศ ที่สำคัญ 4 ตัว ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 5,000 พีพีเอ็ม คาร์บอนมอนน็อคไซด์ ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 34.2 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 1 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต้องมีค่าไม่เกิน 0.30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน24 ชั่วโมง                                 และสารฟอร์มาดีไฮด์ ค่ามาตรฐานในอากาศต้องไม่เกิน 0.004 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบจากสารพิษดังกล่าว ขึ้นอยู่กับปริมาณการสูดเข้าไป และระยะการสัมผัส เช่นอยู่ใกล้มาก ก็อาจได้รับเข้าไปมาก โดยอาการที่เกิดมีตั้งแต่ระคายเคืองอย่างเฉียบพลัน จนถึงหมดสติ                                  

          สำหรับอันตรายของสารพิษ มีดังนี้ 1.คาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อสูดเข้าร่างกาย  จะทำให้หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว หากได้รับปริมาณมาก จะมีผลกดสมอง มึนงง สับสน อาจหมดสติ เสียชีวิตได้  2.สารฟอร์มาดีไฮด์ มีทำให้ระคายเคืองเนื้อเยื่อทางเดินหายใจ ในระยะยาวทำให้เกิดโรคต่อถุงลมปอด ส่วนพิษในระยะเฉียบพลันคือแสบตา ระคายเคืองทางเดินหายใจ แน่นหน้าอก หายใจหอบ หากสูดดมไอระเหยเข้มข้นสูงมากตั้งแต่ 100 พีพีเอ็ม อาจทำให้เสียชีวิตได้ 3.คาร์บอนมอนออกไซด์ มีผลทำให้ออกซิเจนไม่สามารถรวมตัวกับเฮโมโกบินในเลือดได้  ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้ และ 4.สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้ชีพจรเต้นถี่ แน่นหน้าอก หากได้รับในปริมาณเข้มข้นสูง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด และผู้สูงอายุ 

       ......................................        17 มีนาคม 2557



   
   


View 12    17/03/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ