กระทรวงสาธารณสุข เผยข่าวดี พบวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ผล โดยใช้การแพทย์“ โฮมิโอพาธีย์” ใช้สารสกัดจากสมุนไพรผสมน้ำดื่ม ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้สูงขึ้น สุขภาพแข็งแรง ใช้ต้นทุนต่ำมาก แต่ให้ผลสูง ใช้ง่าย หลังศึกษาการใช้ในกลุ่มนักเรียนอนุบาล-มัธยมต้นในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ปี 2555-2556 ตามความสมัครใจ พบได้ผลดี กลุ่มเด็กที่ใช้ป่วยเป็นไข้เลือดออกน้อยและอาการไม่รุนแรง ลดอัตราป่วยอยู่ในอับดับรั้งท้ายของประเทศ เตรียมใช้เต็มพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ในปี 2557 คาดจะลดการเสียชีวิต ลดกังวลพ่อแม่ ลดภาระกุมารแพทย์ได้ดี
นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการบริหารเขตบริการสุขภาพที่ 4 ซึ่งมี 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขและลดปัญหาการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออก ซึ่งในปีที่ผ่านมาเกิดระบาดทั่วประเทศ มีผู้ป่วย 150,934 ราย มากกว่าปี 2555 ถึง 2 เท่าตัว เสียชีวิต 133 ราย ค่ารักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกรายละตั้งแต่ 2,000 บาทจนถึง 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงขณะนี้โรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงเน้นใช้หลายมาตรการป้องกันควบคู่กัน เช่นการกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้าน รอบบ้าน เพื่อลดจำนวนยุงลายให้ได้มากที่สุด การนอนในมุ้ง ป้องกันยุงกัด และขณะนี้มีวิธีการสร้างภูมิต้านทานเพื่อป้องกันในตัวคน โดยนำศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่ชื่อว่า โฮมิโอพาธีย์ (Homeopathy) มีความปลอดภัยสูงเพราะยาที่ใช้สกัดมาจากธรรมชาติ ประหยัดมาก หลายประเทศทั่วโลกใช้การแพทย์สาขานี้ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น
นายแพทย์จักรกฤษณ์กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาได้มีการนำโฮมิโอพาธีย์มาศึกษาใช้ป้องกันป่วยโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ตามความสมัครใจของนักเรียน ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดสิงห์บุรีดีขึ้น ข้อมูลในปี 2554 จังหวัดสิงห์บุรี มีการระบาดโรคนี้ในอันดับที่ 67 ของประเทศ เสียชีวิต 1 ราย ปี 2555 มีการระบาดของไข้เลือดออกในอันดับที่ 76 ของประเทศ และในปี 2556 ซึ่งมีการระบาดใหญ่ของไข้เลือดออกทั่วประเทศ แต่อัตราป่วยต่อแสนประชากร ที่จังหวัดสิงห์บุรีเท่ากับ 44.95 อยู่ในอันดับสุดท้ายของประเทศ จึงมีนโยบายจะขยายการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยโฮมิโอพาธีย์ ในเขตบริการที่ 4 ครบทุกจังหวัด ในปี 2557 โดยจังหวัดสิงห์บุรีจะดำเนินการทุกอำเภอ และอีก 7 จังหวัด จะเริ่มดำเนินการอย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ ทั้งนี้ หากได้ผลดีจะเสนอเป็นทางเลือกให้นำไปใช้ทั่วประเทศต่อไป
ด้านแพทย์หญิงวลี สุวัฒิกะ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านกุมารเวชกรรม ประจำโรงพยาบาลสิงห์บุรี กล่าวว่า ได้ศึกษาการใช้โฮมีโอพาธีย์ป้องกันโรคไข้เลือดออกทุกอำเภอในจังหวัดสิงห์บุรี โดยใช้สารที่มีชื่อว่า ยูพาโทเรียม (Eup.) ลักษณะเป็นยาเม็ด สกัดจากสมุนไพรในต่างประเทศ ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดชนิดนี้ มีผลในการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานป้องกันโรคไข้เลือดออก วิธีการใช้จะใช้ยูพาโทเรียม 4 เม็ดผสมกับน้ำดื่มสะอาด 1.5 ลิตร และเขย่า 30 ครั้ง เพื่อเพิ่มความแรงและประสิทธิภาพยาให้สูงขึ้น ยาดังกล่าวดื่มเหมือนดื่มน้ำทั่วๆ ไปไม่มีรสชาติใดๆ จากนั้นให้เด็กดื่มคนละ 3 ซี.ซี. ทุก3 เดือน โดยเริ่มให้ในเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นเดือนที่โรคระบาดสูงที่สุด ได้ให้ยากลุ่มนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมตอนต้นในอำเภอเมือง ตามความสมัครใจ โดยนักเรียนทั้งหมด 7,106 คน ได้รับยา 4,250 คน หรือครอบคลุมกว่าร้อยละ 50
แพทย์หญิงวลีกล่าวต่อว่า จากการติดตามผลต่อเนื่องตลอด 1 ปี พบว่าเด็กนักเรียนที่ได้รับยาโฮมิโอพาธีย์ จำนวน 4,250 คน ป่วยเป็นไข้เดงกี่ จำนวน 4 คน และมีอาการไม่รุนแรง อัตราป่วยเฉลี่ย 1 ต่อ 1,000 ประชากร ส่วนกลุ่มเด็กที่ไม่ได้กินยาโฮมิโอพาธีย์ จำนวน 2,856 คน ป่วยเป็นไข้เลือดออกและไข้เดงกี่ 7 ราย และมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาโฮมิโอพาธีย์ คิดเป็นอัตราป่วย 2.5 ต่อ 1,000 ประชากร หรือป่วยสูงกว่าเด็กที่ดื่มยา 2.5 เท่าตัว
ทั้งนี้ กลไกของการรักษาแบบโฮมิโอพาธีย์ จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายในแต่ละบุคคล ให้สูงขึ้น ทำให้แข็งแรง เช่นเดียวกับหลักการให้วัคซีนป้องกันโรค ปริมาณยาที่ใช้ในผลิตภัณฑ์โฮมีโอพาธีย์ จะมีขนาดน้อยมาก แต่สามารถใช้ป้องกันได้พร้อมกันจำนวนมาก คือทั้งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ลงทุนประมาณ 12,000 บาทต่อปี สำหรับจังหวัดขนาดเล็ก เช่น จังหวัดสิงห์บุรี จะได้ผลทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด และหากลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในแต่ละปี จะช่วยประหยัดงบประมาณในการรักษาไข้เลือดออกทั่วประเทศได้ปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เหมาะสำหรับการพึ่งตนเองของประชาชน ตลอดจนสามารถใช้ในระบบบริการสาธารณสุขได้ ช่วยคลายความกังวลผู้ปกครอง ลดภาระกุมารแพทย์หรือแพทย์อายุรกรรมที่รักษาผู้ใหญ่ได้ และมีหลายแห่งที่ นำวิธีการนี้ไปใช้แล้ว เช่นที่ รพ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา รพ.เกาะยาว จ.พังงา ขณะนี้สนใจใช้โฮมิโอพาธีย์ศึกษาการป้องกันโรคมือเท้าปาก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มีวัคซีนป้องกันเช่นกัน แพทย์หญิงวลีกล่าว
****************************** 15 มีนาคม 2557