รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย นั่งแท่นประธานประชุมคณะกรรมการยูเอ็นเอดส์ ครั้งที่ 20 เตรียมผลักดันแผนเอดส์โลกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เน้นความร่วมมือใกล้ชิดขององค์การต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม คาดว่าในปี 2553 นี้ ทั่วโลกจะต้องทุ่มทุนแก้ไขเอดส์โลกมากถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งเสนอให้ภาคนโยบายเพิ่มความจริงจังในการใช้มาตรการสังคมในการป้องกัน และให้ภาคธุรกิจด้านยา ลดราคายาต้านไวรัส ให้ต่ำลงอีก นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ครั้งที่ 20 โดยมีเอกอัครราชทูตด้านเอดส์ของสหรัฐเอมริกา เป็นรองประธาน เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (25 มิถุนายน 2550) ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 13.00 น. ของประเทศไทย ว่า คณะกรรมการการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจากทุกภูมิภาคของโลก 22 ประเทศ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ 10 องค์กร ผู้แทนภาคประชาสังคมอีก 5 องค์กร และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรประเทศต่างๆ รวมประมาณ 250 คน โดยประเทศไทยจะทำหน้าที่ 2 บทบาท คือในฐานะประเทศสมาชิก และบทบาทประธานในการประชุม นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โรคเอดส์ทั่วโลกในปี 2549 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบ 40 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก และเสียชีวิตไปแล้ว 25 ล้านคน กล่าวได้ว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่ปลอดผู้ป่วยโรคเอดส์ และที่น่าเป็นห่วงก็คือผู้หญิงที่ติดเชื้อเอดส์ ส่วนมากติดจากสามี ขณะที่ประเทศซึ่งพัฒนาแล้วบางประเทศในเอเชีย ร้อยละ 30 ของผู้ติดชื้อ ฆ่าตัวตาย แสดงถึงความเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะความเท่าเทียมของชายหญิง และการไม่สร้างตราบาปให้แก่ผู้ติดเชื้อ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการพิจารณาแผนงานและงบประมาณของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ.2551-2552 และแผนงานสนับสนุนการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ขององค์กรต่างๆ ภายใต้องค์การสหประชาชาติอีก 10 องค์กร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เพราะมีประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ไม่พอใจต่อร่างงบประมาณดังกล่าว และหากงบประมาณไม่ผ่านการพิจารณา ยูเอ็นเอดส์ก็จะต้องหยุดดำเนินการ ดังนั้นในฐานะของประธานจะต้องพยายามให้มีการรับรองมตินี้ให้ได้ ทั้งนี้ในช่วงแรกปีที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วและองค์การระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันระดมทรัพยากรมหาศาลจนทำให้แนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้น สามารถรักษาชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก โดยลดอัตราการติดเชื้อผู้ป่วยใหม่ในปี 2549 เหลือเพียงวันละ 12,000 ราย และคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้า คือภายใน พ.ศ.2553 จะต้องใช้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ของโลกปีละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 700,000 ล้านบาท นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเอดส์สหประชาชาติครั้งนี้ ตนจะผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ระหว่างยูเอ็นเอดส์กับกองทุนเอดส์เพื่อการแก้ไขโรคมาลาเรีย วัณโรคและโรคเอดส์ หรือ โกลบอล ฟัน (Global Fund) ซึ่งมีแหล่งเงินมาจากประเทศต่างๆ ซึ่งสนับสนุนเงินได้ปีละ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา จึงต้องแสวงหาแหล่งทุนอื่นๆ เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะขอให้แต่ละประเทศที่รับการจัดสรรงบจากโกลบอล ฟัน มีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณของตนเองเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาในแต่ละประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยจะเสนอมาตรการที่เข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาเอดส์โลกด้วย 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การเสนอให้มีกลไกระดับโลก กำหนดนโยบายเกี่ยวกับปัญหาเอดส์อย่างจริงจัง 2.สร้างความเข้มแข็งจริงจังในการดำเนินการใช้มาตรการทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การให้สิทธิเท่าเทียมทางเพศหญิงและชาย การลดการรังเกียจกีดกัน การตีตราบาปผู้ติดเชื้อเอดส์ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง 3.ให้ผู้นำระดับนโยบายเพิ่มงบประมาณในการป้องกันโรคเอดส์ครอบคลุมทุกพื้นที่ และให้ผู้นำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านยา ลดราคายาต้านไวรัสเอดส์ลง ซึ่งที่ผ่านมาได้ลดราคายาลงแล้วแต่ยังไม่สามารถจัดสรรให้ผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง **************************** 25 มิถุนายน 2550


   
   


View 10    25/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ