กระทรวงสาธารณสุข ขยายหน่วยไอซียูดูแลทารกแรกเกิดที่มีอาการในขั้นวิกฤติ ในเขตบริการสุขภาพ 12เขตทั่วประเทศลงถึงโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพระบบการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อลดปัญหาการเสียชีวิตของเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน ชี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด ทั่วประเทศพบปีละ 60,000 -80,000 คน ในจำนวนนี้อาการหนักต้องอยู่ในไอซียูปีละกว่า 11,000 ราย เสียชีวิตปีละกว่า 3,000 ราย  

วันนี้ (7 มีนาคม 2557)ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารประจำเขตบริการสุขภาพที่ 3ประกอบด้วย 5จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท   เพื่อติดตามผลการพัฒนาและจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ที่มีจำนวน 3 ล้านกว่าคน ร่วมกันของโรงพยาบาลทุกระดับ เป็นเครือข่ายบริการเดียวกันทั้งในระดับเขตและในระดับจังหวัด ตามแผนการพัฒนาระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการ ลดปัญหาเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชน  
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาเขตบริการสุขภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 12 เขตทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาระบบการดูแลทารกแรกเกิด ที่มีอาการวิกฤติทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด และเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคือน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ1 ของเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน หรือมีผลต่อพัฒนาการล่าช้า จากสถิติที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีเด็กคลอดก่อนกำหนดคือคลอดเมื่ออายุครรภ์ 28-37 สัปดาห์ ปีละ 64,000 - 80,000 คน และมีเด็กที่มีอาการหนัก ต้องอยู่ในไอซียูปีละกว่า 11,000 คน เนื่องจากอวัยวะต่างๆยังทำงานไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบการหายใจ ตับ และระบบภูมิต้านทานโรค ทำให้ติดเชื้อง่าย การควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ดี และมีปัญหาการดูดนม ต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์ที่มีความชำนาญ และต้องอยู่ในโรงพยาบาลเฉลี่ยรายละ 2-3 เดือน จากข้อมูลในปี 2554 มีเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน เสียชีวิต จำนวน 3,154 ราย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ให้ทุกเขตบริการสุขภาพตั้งคณะกรรมการพัฒนาทารกแรกเกิด เพื่อบริหารจัดการทั้งในระดับเขต และระดับจังหวัด จัดระบบบริการร่วมกันตั้งแต่การฝากครรภ์ การพัฒนาห้องคลอด การเพิ่มหน่วยไอซียูดูแลทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤติ ซึ่งที่ผ่านมาจะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เป้าหมายจะขยายลงถึงโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 – 120 เตียงด้วย เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาได้รับการดูแลที่รวดเร็ว และพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน ลดปัญหาแทรกซ้อนระหว่างนำส่ง           
จากการติดตามผลการพัฒนาที่เขตบริการสุขภาพที่ 3 ซึ่งพบเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่า 2,500 กรัมเฉลี่ยปีละ 2,563 คน คิดเป็นร้อยละ 9 ของเด็กแรกเกิด และมีเด็กที่มีปัญหาเช่นหัวใจพิการแต่กำเนิด ไม่มีรูทวารหนัก ปีละ 120กว่าคน เขตบริการฯได้จัดแผนพัฒนาในปี 2556-2560 โดยเพิ่มหน่วยไอซียูดูแลเด็กทารกที่มีภาวะวิกฤติที่โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60-120 เตียง อีก 6 แห่ง ที่รพ.ตะพานหิน รพ.บางมูลนาก รพ.ลาดยาว รพ.คลองขลุง รพ.พรานกระต่าย และรพ.หนองฉาง และตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเด็กแรกเกิดที่รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ภายในปี 2560 จะมีหน่วยไอซียูเด็กเพิ่มจาก 34 เตียง เป็น 53 เตียง ภาพรวมการพัฒนาทั้งเขต ในปี 2556 พบว่าได้ผล อัตราการเสียชีวิตเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน ลดจาก 8.56 ราย ต่อ 1,000 ของเด็กเกิดมีชีพ เหลือ 6.55 รายต่อ1,000 ของเด็กเกิดมีชีพ เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนดให้มีน้อยกว่า 8 ต่อ 1,000 ของเด็กเกิดมีชีพ สามารถลดภาวะแทรกซ้อนได้ รวมทั้งมีการช่วยเหลือกันระหว่างโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่มีความสุขในการทำงานมากขึ้น          
                                                                                    
                                                                         ************************* 7 มีนาคม 2557

 



   
   


View 8    07/03/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ