กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบ 560 ล้านบาท ระดมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น เร่งผลักดันให้ความช่วยเหลือหญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวีและครอบครัว หลังพบหญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี ขาดนัดหมอสูงถึงร้อยละ 50 เหตุจากกลัวการถูกรังเกียจ และการเลือกปฏิบัติ ล่าสุดไทยมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีปีละ 7,000-8,000 ราย ได้รับยาต้านไวรัสขณะตั้งครรภ์และขณะคลอดร้อยละ 92 ทำให้เด็กไม่ติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สูงถึงร้อยละ 94
วันนี้ (25 มิถุนายน 2550) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมสัมมนา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อกว่า 600 คน เพื่อชี้แจงมาตรการความร่วมมือในการดูแลหญิงหลังคลอดและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวีไปในแนวทางเดียวกันทุกชุมชน ลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ครอบครัวของผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน สังคมได้อย่างมีความสุข ไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป
นายแพทย์มรกต กล่าวว่า โรคเอดส์มีผลกระทบต่อกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์มากขึ้น แต่ละปีจะมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 7,000-8,000 คนติดเชื้อเอชไอวี หากไม่มีการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก จะมีเด็กที่เกิดจากหญิงเหล่านี้ติดเชื้อปีละประมาณ 1,800 - 2,000 คน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ดำเนินการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยให้มีการตรวจเลือดเอชไอวีด้วยความสมัครใจ ให้คำปรึกษา ให้ยาต้านไวรัสแก่หญิงตั้งครรภ์รวมทั้งสามีและลูกให้ครอบคลุมทุกสถานบริการทั่วประเทศ และจัดสรรนมผสมให้แก่บุตรที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ ซึ่งในปีนี้จัดสรรให้ 30 ล้านบาท
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินงานให้ยาต้านไวรัสแก่หญิงตั้งครรภ์ ในปี 2549 พบว่า อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดได้รับการปรึกษาและตรวจเลือดเอชไอวีร้อยละ 99 หญิงตั้งครรภ์มีอัตราติดเชื้อเอช ไอวีร้อยละ 0.9 อัตราหญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสขณะตั้งครรภ์และขณะคลอดร้อยละ 92 และทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสหลังคลอดร้อยละ 99 ได้รับนมผสมร้อยละ 90 สามารถลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกลดลงเหลือประมาณร้อยละ 6 ในขณะนี้ กล่าวได้ว่าเด็กที่คลอดจากที่ติดเชื้อเอชไอวีทุก 100 คนจะไม่ติดเชื้อเอดส์จากแม่ 94 คน แต่อาจกลายเป็นเด็กกำพร้าเนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การให้บริการดูแลหญิงหลังคลอดและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากหญิงหลังคลอดไม่มารับบริการตามนัด ขาดนัดสูงถึงร้อยละ 50 ทำให้แพทย์ไม่สามารถติดตามดูแลอาการได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากกลัวการถูกรังเกียจ หรือถูกกีดกันจากครอบครัวและสังคมรอบข้าง รวมทั้งการเลือกปฏิบัติจากผู้ให้บริการ
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อการแก้ไขปัญหาเอดส์ มาลาเรียและวัณโรคหรือโกล์บอล ฟันด์ (Global Fund ) เพื่อจัดบริการดูแลรักษาหญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งในสถานบริการและในชุมชน โดยเน้นด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการดูแลช่วยเหลือ
ด้านจิตใจและสังคมอย่างครบวงจร เป็นเงินทั้งหมด 560 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2548 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2551 การดำเนินงานในระยะที่ 1 เน้นการเพิ่มพูนศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อสามารถให้บริการ ดูแลรักษาหญิงหลังคลอดและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันนโยบายระดับจังหวัดในการลดการรังเกียจ กีดกันผู้ติดเชื้อ เพื่อให้หญิงหลังคลอดและครอบครัวที่ติดเชื้อเข้ามาสู่ระบบบริการได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยจัดให้มีบริการให้คำปรึกษา และตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีโดยความสมัครใจ และให้บริการดูแลรักษาต่อเนื่องอย่างครบวงจร ดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 100 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชนครบทั้ง 724 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลสุขภาพของแม่ ลูก และสามีด้วย
ส่วนในระยะที่ 2 จะเน้นการดูแล ป้องกัน และรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัส สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด เด็ก และครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับคนไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดเด็กกำพร้าอย่างน้อยในช่วง 5 ปีแรกของอายุ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาเด็กทุกๆด้าน ให้พ่อและแม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีให้นานที่สุด และได้ขยายสู่กลุ่มแรงงานต่างชาติและผู้ด้อยโอกาสด้วยใน 12 จังหวัดได้แก่สมุทรสาคร ตราด สระแก้ว ศรีสะเกษ ตาก เชียงราย ระยอง ระนอง เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี และจันทบุรี
มิถุนายน ******************************* 25 มิถุนายน 2550
View 9
25/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ