กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คาดหวัง 5 ปีคนไทยจะได้ใช้ยาจากสมุนไพรไทย และมีระบบรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน และป้องกันต่างชาติฉกภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทยไปใช้ ชี้ขณะนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยพุ่งขึ้นปีละกว่า 3 แสนล้านบาท อัตราการใช้ยานอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต่อปี นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่า ต้องยอมรับว่าการพัฒนาฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยเพื่อนำมาใช้ในระบบการสาธารณสุขของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับการแพทย์แผนปัจจุบัน นับว่ายังล่าช้าอยู่มาก ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณได้รับน้อยปีละประมาณ 100 -150 ล้าน ไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบสาธารณสุขทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ระบบสุขภาพของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแบบแผนเดียวคือการแพทย์แผนปัจจุบัน ผลกระทบจากการที่มีระบบการแพทย์แผนปัจจุบันแผนเดียว หลายด้านที่เห็นชัดเจนคือเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2545 ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านนี้จำนวน 333,798 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของจีดีพี เพราะต้องพึ่งยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ร้อยละ 30 เป็นค่ายา ซึ่งประมาณร้อยละ 55 นำเข้าจากต่างประเทศ และมีอัตราเพิ่มร้อยละ 12 ต่อปี นอกจากนี้ยาที่ผลิตในประเทศไทย ร้อยละ 90 นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และยังประสบปัญหาแนวโน้มยาใหม่ที่ผลิตขึ้นจะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่ยาวนานกว่าเดิมจาก 20 ปี อาจขยายเป็น 25 ปี จะมีผลให้มีการผูกขาดยาและราคายาจะสูงกว่าความเป็นจริง และทำให้โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยาไทยเป็นไปได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเสี่ยงถูกต่างชาติฉกฉวยไปใช้ในทางธุรกิจ เนื่องกฎหมายยังไม่ครอบคลุมหรือให้ความคุ้มครองได้ 100 เปอร์เซนต์ นายแพทย์มรกต กล่าวต่อไปว่า แนวทางแก้ไขและพัฒนาฟื้นฟูระบบการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอย่างเป็นระบบ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ของชาติ 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2550-2554 เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ชัดเจน ดำเนินการร่วมกันหลายหน่วยงานอาทิ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงการต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้งบประมาณทั้งหมด 2,364 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติเห็นขอบของคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายว่า ภายใน 3 ปีแรก จะสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ได้มาตรฐานสากล และภายใน 5 ปีจะมีระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขจะยกมาตรฐานการผลิตยาไทยและยาจากสมุนไพรตั้งแต่ระดับชุมชน การผลิตในโรงพยาบาลและระดับโรงานให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี คาดหวังว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยาไทยและยาจากสมุนไพรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ของการบริโภคยาทั้งหมด เพื่อลดการพึ่งยานอก นายแพทย์มรกต กล่าว 2/ทางด้านนายแพทย์สมยศ............................. -2- ทางด้านนายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 5 ปี การพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การพัฒนาองค์ความรู้ และการวิจัย 3 สาขาคือการแพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกไม่ต่ำกว่า 20 เรื่อง และจัดทำตำราทางการแพทย์ดังกล่าวจำนวน 20 ตำรา ใช้งบ 750 ล้านบาท 2. การพัฒนาระบบสุขภาพทั้ง 3 สาขาในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้มาตรฐาน พัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ดังกล่าวในระดับประเทศ การคุ้มครองภูมิปัญญาตามกฎหมาย สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายหมอพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพในชุมชน และเพิ่มสิทธิประโยชน์การบริการในระบบการประกันสุขภาพทั้งประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท 3. การพัฒนากำลังคนโดยจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติด้านการพัฒนากำลังคนการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กำหนดทิศทางให้สอดคล้องความต้องการของประเทศ มีสภาวิชาชีพในการควบคุมมาตรฐาน ใช้งบประมาณ 369 ล้านบาท 4. การพัฒนายาไทยและยาจากสมุนไพรให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี และเพิ่มรายการยาไทยและยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีประมาณ 30 รายการ และจะจัดทำตำรับยาไทยและยาจากสมุนไพรแห่งชาติ 100 ตำรับ พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรการผลิตยาไทยและยาสมุนไพร 1 หลักสูตร และพัฒนาร้านขายยาดังกล่าว ใช้งบประมาณ 325 ล้านบาท นายแพทย์สมยศ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์สุดท้ายได้แก่ การคุ้มครองภูมิปัญญาไทยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนทางสังคมที่สั่งสมดั้งเดิมของไทย เพื่อป้องกันการฉกฉวยสมุนไพร และภูมิปัญญาไทย ของบริษัทธุรกิจข้ามชาติ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ มากกว่าประโยชน์ทางสุขภาพอย่างไม่เป็นธรรม และนับวันการละเมิดสิทธิภูมิปัญญาไทยจะมีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยกระบาวนการและกลไกต่างๆที่ถูกตามกติกาและกฎหมายในระดับสากล โดยจะมีการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายทำหน้าที่เฝ้าระวังติดตามการลักลอบนำภูมิปัญญาไทยหรือสมุนไพรไทยไปใช้อย่างไม่เป็นธรรมทั้งในและนอกประเทศ (Bio-privacy watch) และจัดทำข้อตกลงร่วมกับสำนักงานสิทธิบัตรแห่งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เพื่อการใช้ฐานข้อมูลของไทยตรวจสอบการขอรับสิทธิบัตร เพื่อป้องกันการฉกฉวยถูมิปัญญาไทย ปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆให้เอื้อต่อการคุ้มครองถูมิปัญญาไทย ใช้งบประมาณ 420 ล้านบาท


   
   


View 15    24/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ