ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าผลการตรวจครอบครัวที่เป็นโรคผื่นคันผิวหนังและมีแมลงออกจากรอยแผลจำนวน 3คน แท้ที่จริงเป็นหมัดสุนัขทั่วไป ไม่ใช่แมลงประหลาด เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคสระบุรี ได้ฉีดสารเคมีพ่นฆ่าหมัดบริเวณบ้านพักอาศัยของผู้ป่วยแล้ว
จากกรณีที่พบว่า ชาวบ้านหนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี จำนวน 1 ครอบครัว 3 คน ป่วยมีตุ่มคันขึ้นที่ผิวหนังตามแขน ขา หลายแห่ง เมื่อเกาและใช้มือแกะบริเวณบาดแผลที่คัน พบแมลงสีดำ สีน้ำตาลเข้มขนาดเล็ก ดีดตัวออกจากบาดแผล พอนำตัวแมลงใส่ภาชนะและส่องกล้องขยายดูพบว่า แมลงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายตัวลูกน้ำยุงลาย ดวงตาโตเหมือนตั๊กแตน แต่ไม่มีขา เคยไปพบแพทย์แล้ว แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ นั้น
ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2557) นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจราชการเขตบริการสุขภาพที่ 4 ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ให้โรงพยาบาลสระบุรีดำเนินการตรวจสอบอาการผิดปกติของผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ผลการตรวจพบว่า แมลงที่ออกจากตุ่มคันที่ผิวหนัง คือหมัดสุนัขทั่วไปซึ่งเกาะอยู่ตามตัวผู้ป่วย และได้ส่งตัวหมัดไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยาที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคสระบุรี พิสูจน์แล้วยืนยันว่าเป็นหมัดสุนัข ไม่ใช่แมลงประหลาดที่ชาวบ้านเข้าใจ แพทย์ได้ให้การรักษาฟรีและได้ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองปลาไหลและอสม.ทำความเข้าใจและให้ความรู้ชาวบ้านในการดูแลความสะอาดร่างกายและบริเวณที่พักอาศัย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหมัดสุนัข
ทางด้านนายแพทย์ชัยรัตน์ เตชะไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.สระบุรี กล่าวว่าในวันนี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 1 ชุด ไปฉีดสารเคมีพ่นฆ่าตัวหมัดทั้งตัวแก่และไข่ที่บริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยแล้ว ทั้งนี้หมัดจัดเป็นสัตว์จำพวกแมลงที่ไม่มีปีก มีลำตัวสีแดง มีขาอยู่ 3 คู่ เมื่อขยายพันธุ์ตัวเมีย จะวางไข่อยู่นอกตัวสุนัขครั้งละประมาณ 20 ใบ ไข่มักจะอยู่ตามร่องหรือรอยแตกของพื้นและผนังบริเวณที่สุนัขอาศัยอยู่ และจะกินเลือดที่ติดมากับอุจจาระของหมัดตัวเต็มวัยเป็นอาหาร หมัดที่เป็นตัวเต็มวัย จะมีความว่องไวในการเคลื่อนไหว กระโดดได้ไกลมาก
อันตรายที่เกิดจากหมัด มีทั้งทางตรงและทางอ้อม อันตรายทางตรง คือ เมื่อหมัดกัด จะปล่อยน้ำลายลงไปในชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ในตำแหน่งที่กัด ซึ่งจะพบว่าเกิดตุ่มแดงหรือผื่นแดงอักเสบ ผิวหนังที่เกิดการอักเสบจะมีลักษณะเปียกและเจ็บปวดมาก ถ้าเป็นเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณนั้นจะหนาตัวและมีสีเข้มผิดปกติ ตำแหน่งที่พบได้บ่อยๆ คือบริเวณเอว สะโพก หน้าท้อง บริเวณขาหนีบและลำคอ ส่วนอันตรายทางอ้อมหมัดอาจนำพยาธิตัวตืดมาติดได้
วิธีการกำจัดและควบคุมป้องกันหมัด สามารถทำได้โดยใช้สารเคมีเพื่อฆ่าหมัดบนตัวสุนัข ใส่ปลอกคอกันเห็บหมัด ใช้ยาหยดหลัง หรือใช้สารเคมีผสมน้ำอาบหรือเป็นแชมพูอาบน้ำสุนัข หมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัยเช่นกรง คอก สิ่งปูรองของสุนัข เพื่อการกำจัดตัวอ่อนของหมัด
**************************** 7 กุมภาพันธ์ 2557