ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือเหตุชุมนุมวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน เจ้าหน้าที่เป็นหลัก ให้การดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่แบ่งแยก โดยเตรียมพร้อมทีมแพทย์กู้ชีพทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 22 จังหวัด

          วันนี้(31 มกราคม 2557)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศผ่านระบบวีดีโอ ว่า เนื่องจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 รัฐบาลได้มีการจัดให้เลือกตั้ง แต่ยังมีการชุมนุมทางการเมือง อาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของบุคลากรและทรัพย์สินของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ รวมทั้งเพื่อซักซ้อมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในทุกอำเภอ โดยได้กำชับให้หน่วยงานทุกแห่งเพิ่มมาตรการรองรับสถานการณ์ดังนี้
          1.ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงต่อความมั่นคง ความปลอดภัยของบุคคล ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการ พร้อมกับเตรียมความพร้อมรองรับเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ การคัดกรองบุคคลเข้าสู่สถานที่ราชการ การกำหนดพื้นที่เขตหวงห้าม ตลอดจนการตั้งกล้องวงจรปิด 2.ให้จัดเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ที่ประเมินว่าจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น กำหนดผู้รับผิดชอบในการเจรจาต่อรอง การบัญชาการสถานการณ์ และ3.กรณีที่มีสถานการณ์ความเคลื่อนไหว ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการ ให้รายงานผู้บังคับบัญชาและให้ผู้บังคับบัญชาดูแลสนับสนุนแก้ไขปัญหาให้เหตุการณ์ลุล่วงโดยสงบ ซึ่งการปฏิบัติงานทั้งหมดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และให้เจ้าหน้าที่มีเวลาไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย
          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่มีการชุมนุมทางการเมืองในกทม.ที่อยู่ในความรับผิดชอบการบริการของกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งหมด 3 โซน ดังนี้ 1.โซนพื้นที่เขตบางรัก พระโขนง ยานนาวา สาทร วัฒนา บางนา และหนองจอก ให้โรงพยาบาลเลิดสินดูแล 2. โซนพื้นที่เขตบางกะปิ มีนบุรี ลาดกระบัง บึงกุ่ม ประเวศ สวนหลวง คันนายาว สะพานสูง และคลองสามวาให้โรงพยาบาลนพรัตน์ ดูแล และ3.โซน เขตพญาไท ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร ราชเทวี และลาดพร้าว ให้โรงพยาบาลราชวิถีดูแล ซึ่งจะปฏิบัติงานตามปกติร่วมกับทีมกู้ชีพพื้นฐานของมูลนิธิป่อเต็กตึ้งและร่วมกตัญญู ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมกู้ชีพจากภูมิภาคอีก 4 ทีม จาก 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี 2 ทีม ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร จังหวัดละ 1 ทีมปฏิบัติงานคู่กันด้วย และเตรียมความพร้อมอีก 10 จังหวัดรอบกรุงเทพฯได้แก่ สระบุรี อยุธยา สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี เข้าเสริมการทำงานทีมแพทย์ที่มีอยู่ โดยแพทย์ทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้เจ็บป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยก 
ส่วนในต่างจังหวัด 76 จังหวัด    ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังการเกิดเหตุทุกจังหวัดและเข้มข้นเป็นพิเศษในจังหวัดที่มีความเสี่ยง 22 จังหวัด ได้แก่ ภาคใต้ 14 จังหวัด ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก ซึ่งการปฏิบัติงานของทีมแพทย์กู้ชีพของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาได้ผลดีสามารถช่วยชีวิตประชาชนรวดเร็ว นายแพทย์ณรงค์ กล่าว 
********************* 31 มกราคม 2557


   
   


View 9    01/02/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ