สมาชิกรัฐสภาของสหรัฐอเมริการวม 35 ท่าน ได้ลงนามในหนังสือถึงผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา วันที่ 20 มิถุนายน 2550 ขอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ถอนประเทศไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษโดยขอให้ ยูเอสทีอาร์ ตอบข้อเรียกร้องนี้ภายใน 9 กรกฎาคม 2550
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับจดหมายแจ้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา 35 ท่าน นำโดย สส.เฮนรี เอ แวกซ์แมน (Henry A. Waxman)ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2550 ว่าได้ร่วมลงชื่อในหนังสือถึง มิสซูซาน ซี สวัป (Ms. Susan C. Schwab)ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาหรือยูเอสทีอาร์(USTR) โดยเรียกร้องให้ยูเอสทีอาร์ถอนประเทศไทยออกจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของสหรัฐฯต่อประเทศไทย ในการที่จัดประเทศไทยเข้าไปอยู่ในประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ โดยมีข้อความพาดพิงถึงการไม่เคารพในเรื่องของสิทธิบัตรและความไม่โปร่งใสของประเทศไทยในการออกมาตรการบังคับใช้สิทธิบัตรโดยรัฐที่อ้างอยู่ใน ยูเอสทีอาร์ สเปเชี่ยล 301 รีพอร์ต 2007 (USTR Special 301 Report 2007)นั้น ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีท่าที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการยอมรับกันทั่วโลกภายใต้มาตรการยืดหยุ่นของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศและข้อตกลงที่ประกาศที่กรุงโดฮา ภายใต้องค์การการค้าโลก (Doha Declaration on TRIPS and Public Health) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทุกประเทศสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่จำเป็นต้องเจรจากับผู้ทรงสิทธิบัตรก่อน
โดยระบุต่อไปว่าการกระทำของประเทศไทยในการออกมาตรการบังคับใช้สิทธิครั้งนี้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ป่วยไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศทั่วโลกด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างจากการที่บริษัท แอ๊บบอต ลาบอราตอรีส์(Abbott Laboratories) ได้ประกาศลดราคายา คาเลคตร้า(Kaletra)ยาต้านเอชไอวี/เอดส์ ที่เป็นยาต้นแบบ ลงกว่าครึ่งหนึ่งของราคาเดิม และการที่มูลนิธิ คลินตันสามารถเจรจาต่อรองราคายา ชื่อสามัญของยาโลพินาเวีย (Lopinavir)/ริโทนาเวีย (Ritonavir)และยาเอฟฟาไวเลน(Efavirenz)ได้ที่ราถูกมากจนทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศทั่วโลกมีโอกาสเข้าถึงยาราคาถูกลงได้จำนวนมากขึ้น
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สส.ทั้ง 35 ท่าน ยังแสดงความกังวลเพิ่มเติมในเรื่องแนวโน้มของความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิในเรื่องระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี (Generalized System of Preferences : GSP) สำหรับทองและสินค้าประเภทอื่นๆอีกด้วยโดยขอให้ ยูเอสทีอาร์ ตอบข้อเรียกร้องนี้ภายใน 9 กรกฎาคม 2550
ทั้งนี้การดำเนินการสนับสนุนประเทศไทยครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เดินทางไปหารือและชี้แจงกับบุคคลในวุฒิสภาและรัฐสภา รวมทั้งองค์กรต่างๆในสหรัฐ โดยเฉพาะการที่ได้มีโอกาสเข้าพบและหารือกับ สส.แวกซ์แมน ซึ่งเป็นแกนนำในการทำหนังสือถึงยูเอสทีอาร์ ฉบับนี้
อนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จำนวน 22 ท่าน ซึ่งนำโดยสส.แวกซ์แมน ก็ได้เคยร่วมลงนามในหนังสือถึงยูเอสทีอาร์ เรื่องการสนับสนุนการดำเนินการของไทยในเรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 โดยขอไม่ให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯหรือรัฐบาลสหรัฐฯดำเนินการแทรกแซงการดำเนินการดังกล่าวของไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ถูกกฎหมายและถูกหลักมนุษยธรรม
....................................21 มิถุนายน 2550
View 14
21/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ