กระทรวงสาธารณสุข เร่งเข้ม 5 มาตรฐานบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแก้ไขป้องกันการติดเชื้อซ้ำสองของผู้ป่วยหลังเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลการศึกษาพบมีผู้ป่วยติดเชื้อจากสาเหตุนี้ถึง 200,000 ราย เสียชีวิต 12,000 ราย พบในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอันดับ 1 รองลงมาคือ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ รัฐต้องสูญค่ารักษาสูงถึง 5,000 ล้านบาทต่อปี วันนี้ (21 มิถุนายน 2550) ที่โรงแรมมณเฑียร กทม. นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวภายหลังประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และมอบนโยบายการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แก่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 200 คน จัดโดยองค์การอนามัยโลกร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยต่อประชาชนที่เจ็บป่วยและเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมทั้งการป้องกันข้อผิดพลาดจากการให้บริการและโรคแทรกที่เกิดขึ้นภายหลัง อาจทำให้เกิดการสิ้นเปลืองหรือเสียชีวิตโดยใช่เหตุ นายแพทย์ศุภชัยกล่าวว่า โรงพยาบาลเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคจำนวนมากที่มากับผู้ป่วย ญาติ หรือคนที่มาเยี่ยม รวมทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์และปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ไม่สามารถมองเห็นได้ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามควบคุมแก้ไขก็คือ การป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนของผู้ป่วย ซึ่งมีโอกาสสูงเนื่องจากอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ปัญหานี้พบได้ทั่วโลก โดยผลการศึกษาในประเทศไทยล่าสุดเมื่อพ.ศ. 2549 พบผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลถึง 200,000 ราย หรือพบได้เกือบ 6 คน ในผู้ป่วยที่เข้ารักษาทุก 100 คน เสียชีวิตปีละ 12,000 รายคิดเป็นร้อยละ 6 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด แหล่งที่พบมักเป็นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มากที่สุดคือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร้อยละ 8 รองลงมาเป็นโรงพยาบาลทั่วไปพบร้อยละ 6 และโรงพยาบาลศูนย์ร้อยละ 5 ตำแหน่งที่พบการติดเชื้อสูงสุดคือปอด ร้อยละ 39 รองลงมาคือการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ร้อยละ 26 ทั้งนี้ผลเสียของการติดเชื้อโรคในโรงพยาบาล จะทำให้ระยะเวลานอนรักษาตัวของผู้ป่วยนานขึ้นเป็นครั้งละ 10-12 วัน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายทั้งค่ายาและการดูแลสูงถึงปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท มีรายงานว่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียเงินจากเหตุนี้เป็นเงินปีละ 6,000 – 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นายแพทย์ศุภชัยกล่าวต่อไปว่า มาตรการแก้ไขในปีพ.ศ. 2550 กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นการแก้ไขที่สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ให้บุคลากรทุกคนทุกระดับล้างมือฟอกสบู่ก่อนและหลังให้การบริการผู้ป่วยทุกคน หรือเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะใส่ถุงมือขณะให้บริการก็ตาม โดยจะเพิ่มจากร้อยละ 50 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ให้ได้ 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งจะลดการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้มากถึงร้อยละ 90 ประการที่ 2. จะเน้นการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ทุกชนิดให้สะอาดปลอดเชื้อ ประการที่ 3. เข้มมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ปอด ซึ่งมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 30 และการติดเชื้อของผู้ป่วยประเภทนี้ทำให้การรักษาแพงขึ้นเฉลี่ยครั้งละ 9,881 บาท ประการสุดท้าย กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นพัฒนาความปลอดภัยด้านยาในโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้เพิ่มความปลอดภัยในด้านการบริหารจัดการยา โดยเฉพาะยาที่มีชื่อคล้ายกันและมีรูปร่างคล้ายกัน ยาที่มีอัตราการแพ้ยารุนแรง และยาที่อันตรายรุนแรง ให้มีการดูแลอย่างระมัดระวัง ในการดำเนินงานความปลอดภัยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการตามเป้าหมายการสร้างความปลอดภัยผู้ป่วยขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้บุคลากรยึดเป็นแนวปฏิบัติในทางเดียวกันทั่วประเทศ ได้แก่ การเน้นบริการสะอาด การรักษาพยาบาลผู้ป่วยตรงคน ตรงโรค ตรงยา ให้เลือดตรงกับหมู่เลือดของผู้ป่วย รวมทั้งการเก็บตัวอย่างเลือด เสมหะเพื่อการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ เพื่อความแม่นยำ ป้องกันการผิดพลาด การเพิ่มการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ เพื่ออธิบายสาเหตุโรค การรักษา การดูแลขณะอยู่โรงพยาบาลและเมื่อกลับไปบ้าน รวมทั้งข้อระวังในการใช้คำย่อต่างๆ การให้ยาที่อยู่ในระดับปลอดภัย โดยมีการติดตามอาการข้างเคียงของยาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวมีระบบการป้องกันการเกิดการแพ้ยาซ้ำที่รัดกุมโดยเฉพาะในใบประวัติของผู้ป่วย และสร้างความปลอดภัยจากการคลอดบุตรทั้งแม่และเด็ก มีหลักเกณฑ์การเฝ้าระวังอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด หรือการทำคลอดผิดธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถลดการฟ้องร้องจากการให้บริการทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง ************************************** 21 มิถุนายน 2550


   
   


View 11    21/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ