รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามงานยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จังหวัดสิงห์บุรี และชัยนาท มอบนโยบายให้ชุมชนผลิตอาหารปลอดสารพิษ เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารทั่วประเทศเกือบ 30,000 ตัวอย่างล่าสุดในเดือนมีนาคม 2550 ยังพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักสด พริก ใบกะเพรา และพบอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นตัวก่อมะเร็งตับ อยู่ในพริกแห้ง พริกป่น ถั่วลิสง สูงถึงร้อยละ 21
วันนี้ (20 มิถุนายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของรัฐบาล ที่จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดชัยนาท โดยได้ตรวจเยี่ยมโครงการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ด ที่หมู่ 3 ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้ 1,000 บาท 1,500 บาทต่อไร่ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และลดความเสี่ยงของเกษตรกรและผู้บริโภครับพิษจากการใช้สารเคมี ส่วนที่จังหวัดชัยนาทได้ตรวจเยี่ยมโครงการน้ำดื่มเพื่อสุขภาพที่หมู่ที่ 5 ตำบลชัยนาท และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หนองหญ้าไทร หมู่ที่ 3 ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
นายแพทย์มรกตกล่าวว่า จากการติดตามงานทั้ง 2 จังหวัดพบว่า มีการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างดี ทุกหมู่บ้านและชุมชนมีแผนพัฒนา โดยที่จังหวัดสิงห์บุรีได้รับงบประมาณ 51 ล้านบาท ร้อยละ 97 หมู่บ้าน/ชุมชนดำเนินการเอง ที่จังหวัดชัยนาทได้รับงบประมาณ 59 ล้านบาท ร้อยละ 81 ชาวบ้านดำเนินการเอง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจัดบริการที่จำเป็นในหมู่บ้าน เช่น สร้างศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ของชุมชน ตั้งหอกระจายข่าว/เสียงตามสาย จัดสถานที่ออกกำลังกาย รวมทั้งการสร้างอาชีพในครัวเรือน เพื่อเพิ่มรายได้จากงานประจำ
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า การที่ชุมชนเป็นฝ่ายดำเนินการพัฒนาในชุมชนในเรื่องต่างๆ พบว่าสร้างผลดีต่อทางเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการผลิตอาหารแบบชีวภาพ ไม่พึ่งสารเคมีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสร้างความปลอดภัยอาหารในรอบ 4 ปีมานี้ แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ผลการตรวจสารอันตรายตกค้างในอาหารในเดือนมกราคม - มีนาคม 2550 ทั้งหมด 29,245 ตัวอย่าง ยังพบสารอันตรายปนเปื้อน 220 ตัวอย่าง มากที่สุดได้แก่ สารเร่งเนื้อแดงพบในเนื้อหมู 6 ตัวอย่างจากที่ตรวจทั้งหมด 263 ตัวอย่าง รองลงมาคือยาฆ่าแมลงในผักสด พบมากถึง 186 ตัวอย่างจากที่ตรวจ 16,301 ตัวอย่าง ในผักคะน้า กวางตุ้ง คื่นฉ่าย ถั่วฝักยาว ผักชีทุกชนิด พริกสดทุกชนิด มะเขือเทศ ใบกะเพรา โหระพา หน่อไม้ฝรั่ง แขนงกะหล่ำปลี ถั่วลันเตา ต้นหอม ถั่วพู ผักกาดเกือบทุกชนิด รวมทั้งพบในส้มโชกุน องุ่นไร้เมล็ด ชมพู่ ส้มเช้ง
ในส่วนของผักดอง เช่น ผักกาดดอง ผักกุ่มดอง พบสารกันราเจือปน 3 ตัวอย่างจาก 1,108 ตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังพบการใช้น้ำยาดองศพหรือฟอร์มาลิน ซึ่งมีพิษทำลายเซลในร่างกาย ทำให้ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน หมดสติและเสียชีวิตได้ ในสไบนาง ปลาหมึกกรอบ แมงกะพรุน จำนวน 4 ตัวอย่างจากที่ตรวจ 2,822 ตัวอย่าง ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมูบด ทอดมัน ลูกชิ้น กุนเชียง และอาหารสำเร็จรูป เช่น เผือกทอด ขนมเทียนไส้เค็ม ตรวจพบสารบอแรกซ์ซึ่งทำให้กรอบและใช้กันบูดเสีย มีพิษทำให้ไตวาย อาเจียนเป็นเลือด และตายได้ จำนวน 21 ตัวอย่างจากที่ตรวจ 6,955 ตัวอย่าง ที่น่าตกใจก็คือพบสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตับ ในพริกป่น พริกแห้ง ถั่วลิสงป่น ถั่วลิสงแห้งมากถึงร้อยละ 21
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อไปว่า ในการสร้างความปลอดภัยผู้บริโภคอาหารนั้น ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งนโยบายให้ทุกจังหวัดมีการสุ่มตรวจในตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต อย่างต่อเนื่อง และมอบป้ายอาหารปลอดภัยให้แผงที่ตรวจไม่พบสารตกค้างอันตราย ได้มอบไปแล้ว 127,371 ราย จัดโครงการอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลต้นแบบ 4 ภาค รวม 260 แห่ง ซึ่งจะรับซื้อผักจากชุมชนที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เลี้ยงสัตว์แบบปลอดสารเร่งเนื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้กินอาหารที่ปลอดภัย ลดความรุนแรงการเจ็บป่วย ทำให้หายเร็วขึ้น โดยจะเร่งดำเนินการให้ครบกว่า 800 แห่งทั่วประเทศภายในปีหน้านี้
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อไปว่า สำหรับในระดับการผลิตอาหารในโรงงาน ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และอ.ย.ควบคุมดูแลมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วร้อยละ 99 คาดว่าจะครบทั้ง 100 เปอร์เซนต์ในสิ้นปีนี้
ทางด้านดร.กาญจนา กาญจนสินิทธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนไทยทุกคนมีความเสี่ยงบริโภคสารอันตรายปนเปื้อนในอาหาร จะสังเกตได้ว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อที่เกิดจากน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด พบปีละประมาณ 2 ล้านราย ขณะเดียวกันที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงก็คือการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง อาการป่วยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่รู้ตัว ในปี 2549 พบผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ 60,000 ราย
ขอให้ประชาชนเลือกซื้ออาหารจากแผงจำหน่ายที่ได้รับป้ายอาหารปลอดภัย และล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งเพื่อความมั่นใจ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้ร่วมมือกับเครือข่ายระหว่างประเทศรวม 193 ประเทศทั่วโลก ในการเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยทุกชนิด ซึ่งจะทำให้เราสามารถติดตามอันตรายได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอาหารนำเข้า
***************** 20 มิถุนายน 2550
View 16
20/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ