กระทรวงสาธารณสุข ต่อโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก 7 ปี เพื่อผลิตนักศึกษาเพิ่มอีก 771 คน และเพิ่มสถาบันสมทบผลิตในปีนี้อีก 1 แห่งคือที่โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา เผยความคืบหน้าโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทหลังเริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2538 จนถึงขณะนี้ ปั้นหมอลงชนบทไปแล้ว 1,096 คน ในปี 2550 นี้รับแพทย์เข้าเรียน 543 คน และจะจบในปี 2551 จำนวน 300 คน วันนี้ (18 มิถุนายน 2550) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กทม. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิตตินัดด์ หะวานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายแพทย์เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี นายแพทย์พิษณุ มณีโชติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี นายแพทย์ประมวล จารุตระกูลชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และนายแพทย์วีระพงษ์ เพ่งวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา ร่วมลงนาม ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการต่อสัญญาครั้งที่ 2 หลังสิ้นสุดในรอบแรกเมื่อพ.ศ.2538-2549 เป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550-2556 รวมนักศึกษาที่ผลิตจากสถาบันนี้ 771 คน ในปีการศึกษา 2550 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะรับนักศึกษาแพทย์เข้าเรียนทั้งหมด 117 คน ใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเร่งรัดผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวน 75 คน และโครงการเมกะโปรเจ็คของกระทรวงสาธารณสุขตามแผนการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขอีกจำนวน 42 คน โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทราซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เป็นสถาบันสมทบการผลิตแพทย์ในเครือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก 1 แห่ง รวมทั้งหมด 4 แห่ง เพื่อเป็นสถานที่ฝึกสอนในระดับชั้นคลินิกชั้นปีที่ 4-6 นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งผลิตแพทย์เพิ่มเข้าสู่ระบบบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยผลิตใน 3 โครงการ รวมทั้งหมด 9,580 คน ได้แก่ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งมีเป้าหมายผลิตแพทย์ 3,000 คน เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2538 และรุ่นสุดท้ายเมื่อปีการศึกษา 2549 รวมนักศึกษาทั้งสิ้น 2,982 คน ขณะนี้สำเร็จการศึกษากลับไปทำงานชดใช้ทุนเป็นระยะเวลา 3 ปีตามภูมิลำเนาของตนแล้ว 7 รุ่น รวม 1,096 คน สำหรับอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเร่งรัดผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท พ.ศ. 2547 – 2556 เป้าหมายผลิตแพทย์ 3,807 คน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารับนักศึกษาไปแล้ว 130 คน จะเร่งดำเนินการผลิตตามแผนตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไปปีละประมาณ 500 คน และในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือเมกะโปรเจ็ค ตามแผนการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข พ.ศ. 2549 – 2552 เป้าหมายผลิตแพทย์ 2,798 คน เมื่อสิ้นโครงการทั้ง 3 รวมระยะเวลา 23 ปีสามารถผลิตแพทย์ลงไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ชนบทห่างไกลเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 2 เท่าตัวของที่มีในขณะนี้ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า นักศึกษาแพทย์เพื่อชาวชนบทใน 3 โครงการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 9 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คัดเลือกเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในภูมิลำเนาหรือที่เรียกว่าช้างเผือก เข้าศึกษาตามหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี และกลับไปทำงานตามภูมิลำเนาเดิม โดยในชั้นปี 1 - 3 เรียนภาคทฤษฎีที่คณะแพทยศาสตร์ ส่วนในปีที่ 4 - 6 เป็นการฝึกภาคปฏิบัติตามหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ ที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ของโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 26 แห่ง ด้านนายแพทย์สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทกล่าวว่า จากการประเมินผลแพทย์ที่สำเร็จจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท พบว่าได้ผลดีมาก แพทย์ที่กลับไปทำงานชดใช้ทุนแล้ว มีความรักบ้านเกิด การโยกย้ายออกนอกพื้นที่มีน้อยมากเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะปัญหาการลาออกของแพทย์ซึ่งในปี 2550 นี้มีแพทย์ชดใช้ทุนลาออกทั้งหมด 700 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 95 เป็นแพทย์ที่ผลิตในระบบปกติ มิถุนายน ***************************** 18 มิถุนายน 2550


   
   


View 11    18/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ