กระทรวงสาธารณสุข ประชุมใหญ่ผู้บริหารระดับสูงทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคในสังกัดทั่วประเทศ ทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการดูแลนักเรียนพยาบาล 3,000 คน ในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้โครงการนี้จะช่วยเติมเต็ม และเป็นหลักประกันความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ มีหมอ พยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง วันนี้(18 มิถุนายน 2550) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ผู้แทนโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิตและกรุงเทพมหานคร นายกสภาพยาบาล และผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาล รวม 500 คน เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักเรียนพยาบาล 3,000 คน จากโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการประชุมครั้งนี้พลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและผู้อำนวยการกองรักษาความมั่นคงภายใน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความมั่นคงกับโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า โครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กลาโหม ศึกษาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กองรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน. ) ภาค 4 สำนักข่าวกรอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และสภาการพยาบาล เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูลและ สงขลา มีแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลด้านสุขภาพอนามัยในทุกหมู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง ใช้งบประมาณ 1,269 ล้านบาท กำหนดจะเปิดเรียนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 นี้ และจบเป็นพยาบาลวิชาชีพในปีการศึกษา 2554 หลังจบการศึกษาจะให้ทำงานในภูมิลำเนา และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนทันที “ขณะนี้ทั่วประเทศขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอีกประมาณ 30,000 คน ขณะที่วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพได้ปีละ 2,500 คน ในส่วนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีพยาบาล 2,807 คน เฉลี่ยมีจังหวัดละประมาณ 560 คน ในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 5,866 คน ยังขาดอีกกว่า 3,000 คน ผลจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้พยาบาลทำงานหนัก ในสภาวะที่หวาดกลัว ทำให้หลายคนขอย้ายออกนอกพื้นที่ โครงการฯนี้ นอกจากจะแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชน และช่วยคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในภาคใต้อีกทางหนึ่ง” นายแพทย์ปราชญ์กล่าว ทางด้านนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า โครงการผลิตนักเรียนพยาบาล 3,000 คนครั้งนี้ จะผลิตในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีที่อยู่ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก 25 แห่ง ใช้งบประมาณผลิตคนละ 7 หมื่นบาทต่อปี เป็นเวลา 4 ปี ขณะนี้วิทยาลัยพยาบาลได้วางแผนการดูแลนักเรียนเหล่านี้เป็นอย่างดีทั้งการจัดการเรียนการสอน หอพักและสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ โดยจะให้นักศึกษาเรียนร่วมกับนักเรียนพยาบาลที่ผลิตภาคปกติ คณาจารย์และบุคลากรทุกคน พร้อมที่จะดูแลให้นักศึกษาจากภาคใต้ทุกคน มีความสุขระหว่างเรียน และจบเป็นพยาบาลวิชาชีพวุฒิปริญญาตรี ที่มีคุณภาพ มั่นใจว่าการกระจายเข้าเรียนในวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ จะเป็นผลดีทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ เรียนรู้สังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเลือกเก็บประสบการณ์ที่ดี นำกลับไปปรับใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนในภูมิลำเนาต่อไป มิถุนายน 5 /6-7 ‘’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’ 18 มิถุนายน 2550


   
   


View 12    18/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ