กระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดจัดสัปดาห์รณรงค์ให้คนไทยที่ป่วยจาก 4 โรคสำคัญที่ติดต่อทางการไอจาม คือ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ปอดบวม สาเหตุสูญเสียค่ารักษาปีละเกือบ 5,000 ล้านบาท คาดหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นนิสัย ระหว่างวันที่ 23– 29 มิถุนายน 2550 เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเพิ่ม และเริ่มนำร่องในกลุ่มผู้ป่วยและบุคลากรใน 27 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตั้งเป้าปลูกฝังพฤติกรรมให้ได้ร้อยละ 80 วันนี้ (13 มิถุนายน 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมแถลงข่าว “โครงการรณรงค์การใช้หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล” ป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจประจำปี 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ จัดโครงการสัปดาห์รณรงค์การใช้หน้ากากอนามัยทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พร้อมกันทุกจังหวัด ระหว่างวันที่ 23 – 29 มิถุนายน 2550 โดยในวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2550 จัดที่ทำเนียบรัฐบาล โดยคู่สมรสคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลใช้หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนหน้ากาอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้ 1 ล้านชิ้น นายแพทย์มงคลกล่าวว่า โรคทางเดินหายใจ ที่เป็นปัญหาหลักๆ ในประเทศไทยที่สำคัญและพบได้ตลอดปี มี 4 โรคสำคัญ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค และปอดบวม ต่อปีมีคนไทยป่วยจากโรคนี้กว่า 20 ล้านคน สาเหตุที่พบโรคนี้มาก เนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูกน้ำลาย โดยการไอ จามแต่ละครั้งจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปได้ 3 ฟุต และมีชีวิตลอยปะปนอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือหลายวันแล้วแต่ชนิดเชื้อโรคและสภาพแวดล้อม ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี มีภูมิต้านทานอ่อนแอติดเชื้อและป่วยได้ แต่หากผู้ที่กำลังป่วย คาดหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคลงได้ถึงร้อยละ 80 แต่จากการสำรวจเบื้องต้นในโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่งจากทุกภาค พบว่า ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจยังคาดหน้ากากอนามัยน้อย โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ใช้เพียงไม่ถึงร้อยละ 50 ส่วนผู้ป่วยทางเดินหายใจที่นอนรักษาตัวในหอผู้ป่วยใช้ร้อยละ 40 ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกใช้ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น ในการป้องกันและลดการแพร่เชื้อโรคทางเดินหายใจ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข นอกจากมีนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปที่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ คาดหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่บุคคลอื่น โดยเฉพาะในที่สาธารณะ ควบคู่ไปกับการล้างมือบ่อย ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจอย่างได้ผล และจะนำร่องสร้างพฤติกรรมในกลุ่มผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่อยู่โรงพยาบาล 27 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 25 แห่ง สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันโรคทรวงอก เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่มีผู้รับบริการมาก ทำให้มีเชื้อโรคสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรควัณโรคที่หวนกลับมาแพร่ระบาดจากปัญหาโรคเอดส์ รวมทั้งเชื้อวัณโรคชนิดที่ดื้อยา ซึ่งไทยจะพบได้เกือบร้อยละ 1 ก็ตาม ซึ่งคนไทยที่ป่วยส่วนใหญ่ไม่เคยชินกับการคาดหน้ากากอนามัย และมองผู้ที่คาดเป็นคนแปลกประหลาด โดยตั้งเป้าให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 นายแพทย์มงคลกล่าว สำหรับสถานการณ์โรคติดต่อทางเดินหายใจในปี 2549 พบผู้ป่วยไข้หวัดทั่วไปประมาณ 20 ล้านคน วัณโรคปอด 28,153 ราย เสียชีวิต 183 ราย ไข้หวัดใหญ่ 17,424 ราย เสียชีวิต 1 ราย ปอดบวมซึ่งระบาดมากในช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่มากถึง 145,290 ราย เสียชีวิต 874 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก สำหรับในปี 2550 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันนี้ พบผู้ป่วยวัณโรคปอด 9,523 ราย เสียชีวิต 55 ราย ไข้หวัดใหญ่ 6,153 ราย เสียชีวิต 4 ราย และปอดบวม 51,497 ราย เสียชีวิต 388 ราย ทั้งนี้การรักษาโรคดังกล่าวมีความแตกต่างกัน โดยไข้หวัดมีค่ารักษาครั้งละประมาณ 200 บาท ไข้หวัดใหญ่ ครั้งละประมาณ 3,530 บาท ปอดบวมและวัณโรค ค่ารักษาโรคละ 4,520 บาท หากใช้จำนวนผู้ป่วย 4 โรคในปี 2549 เป็นฐานคำนวณคร่าวๆ ไทยสูญเสียค่ารักษา 4 โรคนี้ถึง 4,800 ล้านบาท นายแพทย์มงคลกล่าว ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อโรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อไวรัส และยังมีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ วิธีป้องกันการแพร่ระบาดทำได้ง่าย ๆ โดยผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทุกคน คาดหน้ากากอนามัยจนกว่าจะหายป่วย หน้ากากอนามัยที่เหมาะสำหรับใช้ทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ชนิดใช้แล้วทิ้ง และชนิดทำจากผ้าสามารถซักและนำมาใช้ใหม่ได้ ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป รวมทั้งหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะมือเป็นตัวกลางนำเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น และไม่ใช้มือแคะไชจมูก หรือขยี้ตา หากมีไข้ ไอ ควรพักผ่อนอยู่บ้านจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากจำเป็นต้องออกไปที่ชุมชน ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นทุกครั้ง ทางด้านนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาฯ กล่าวว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทย ได้ทรงนิพนธ์บทความวัณโรคในปี 2463 พระราชทานแก่กรมสาธารณสุข เพื่อแจกจ่ายประชาชน โดยทรงเน้นให้ผู้ป่วยมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปติดคนอื่น เวลาไอ จามให้ปิดปากด้วยผ้า มือเปื้อนต้องล้างมือ ซึ่งวิธีการนี้ยังคงทันสมัยและใช้ได้กับโรคติดต่อทางเดินหายใจทุกโรค ทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาฯ จึงได้รณรงค์ลดการแพร่เชื้อทางเดินหายใจ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย มาตั้งแต่ปลายปี 2545 โดยสมเด็จพระพี่นางเธอฯ ได้ทรงประทานหน้ากากอนามัยให้กับราษฎรที่มีอาการโรคหวัดหรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ทุกครั้งที่เสด็จเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ขณะนี้วัณโรค และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ เป็นโรคของคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานที่ที่ติดเครื่องปรับอากาศ เช่น รถโดยสาร เครื่องบิน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม รวมทั้งโรงพยาบาล และหากมีการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคที่ดื้อยา ซึ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาดน้อยมาก ในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก เด็กขาดสารอาหาร ผู้ป่วยเบาหวาน มะเร็ง โรคตับ หรือไตวาย ผู้ป่วยเอดส์ อาจเสียชีวิตได้ *************************** 13 มิถุนายน 2550


   
   


View 11    13/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ