กระทรวงสาธารณสุข เร่งยกมาตรฐานบริการรักษาพยาบาลของสถานบริการในสังกัด ครอบคลุมในเขตชนบท 100 เปอร์เซ็นต์ ลดความแออัดในเขตเมือง โดยที่โรงพยาบาลพุทธชินราช เปิดศูนย์สุขภาพเมืองคล้ายโพลีคลินิก บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไป ทำฟัน นำระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์มาใช้ บริการรวดเร็ว ใช้เวลาครึ่ง-1ชั่วโมง ประชาชนเข้ารับบริการวันละ 200-300 คน
วันนี้ (13 มิถุนายน 2550) ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ประจำปี 2550 และเยี่ยมศูนย์สุขภาพเมือง พิษณุโลก ซึ่งโรงพยาบาลพุทธชินราชตั้งขึ้น ลักษณะคล้ายโพลีคลินิก เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคทั่วไป ให้ได้รับการตรวจรักษาจากทีมแพทย์ อย่างสะดวก รวดเร็วขึ้น และยังเป็นศูนย์บริหารจัดการเครือข่ายศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตเมืองอีกด้วย
นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุข ได้วางนโยบายพัฒนาบริการ 2 ส่วน คือ ในเขตชนบท จะสร้างโรงพยาบาลประจำกิ่งอำเภอที่ยังไม่มีโรงพยาบาลให้ครบทุกแห่ง ขยายศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งจะมีหมอ พยาบาลไปให้บริการที่สถานีอนามัย เพิ่มแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลชุมชน เช่น สูติแพทย์ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชนบทได้รับบริการใกล้บ้าน สะดวกขึ้นกว่าเดิม ส่วนในเขตชุมชนเมืองมีนโยบายลดความแออัด สร้างความคล่องตัวในการให้บริการผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนและโรคเฉพาะทาง รวมทั้งเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยในจังหวัด โดยการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกทั่วไปที่อาการไม่ซับซ้อน ให้จัดบริการในลักษณะของโพลีคลินิก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็ว หากอาการรุนแรง ต้องดูแลต่อ จะส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ จะช่วยให้แพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้รักษาโรคยากๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีเวลาศึกษาพัฒนาด้านเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ
ด้านนายแพทย์วิชิต บุญยวรรธนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช กล่าวว่า โรงพยาบาลพุทธชินราช เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำภาคเหนือตอนล่าง ขนาด 904 เตียง ต่อวันมีผู้ป่วนนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 800-900 ราย ส่วนที่แผนกผู้ป่วยนอกมีเข้ารักษาเฉลี่ยวันละ 2,100 ราย ซึ่งแออัดมาก ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในการแก้ปัญหา ได้เปิดศูนย์สุขภาพลักษณะคล้ายโพลีคลินิกขึ้นเป็นแห่งแรก
โดยศูนย์ดังกล่าวตั้งที่อาคารผู้ป่วยนอกหลังเก่า ด้านหน้าของโรงพยาบาลพุทธชินราช มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 3 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาลและเจ้าหน้าที่เทคนิคอื่นๆ รวม 30 คน และนำระบบคอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูลการรักษา โดยไม่ใช้บัตรบันทึกการเจ็บป่วย เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการใช้บริการของผู้ป่วย เป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ทั้งตรวจรักษาโรคทั่วไป คลินิกเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง คลินิก วัณโรค ทำฟัน คลินิกสุขภาพเด็กดี ให้บริการทุกวันในเวลาราชการเหมือนที่โรงพยาบาล
นายแพทย์วิชิตกล่าวต่อว่าศูนย์ฯแห่งนี้ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตอำเภอเมือง 25 แห่ง ในการส่งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อการรักษาดูแลต่อเนื่อง ในระบบออนไลน์ ตรวจสอบประวัติเก่าได้เลย และรับการดูแลใกล้บ้าน ไม่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช เปิดใช้เป็นเวลา 2 ปี ประชาชนรับบริการวันละ 200-300 คน ใช้เวลาบริการคนละ ครึ่ง - 1 ชั่วโมง ประชาชนพอใจในบริการมาก เพราะไม่ต้องรอตรวจนาน
********************* 13 มิถุนายน 2550
View 11
13/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ