นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนาระบบการบริหารยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า  ในวันนี้ (30 ตุลาคม 2556) กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อหารือถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข หลังจากที่กรมบัญชีกลาง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายา ให้สถานพยาบาลสามารถเบิกค่ายาชื่อสามัญ (generic drug) ในสัดส่วนที่สูงกว่าการเบิกจ่ายยาต้นแบบหรือยาออริจินอล  ตามหนังสือด่วนที่สุดที่กค 0422.2 / ว 356 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556  จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มากราคม 2557   เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

         นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ตามระบบการเบิกจ่ายยาชื่อสามัญกับยาต้นแบบ จะคงหลักการเหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาจากตัวเลขเบื้องต้น เมื่อเริ่มมาตรการสนับสนุนการใช้ยาชื่อสามัญอย่างเดียว   ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงโดยเฉลี่ย 3-4 เปอร์เซ็นต์หรือลดลงเกือบ 2,000 ล้านบาทจากค่ายาของระบบข้าราชการที่มีมูลค่าปีละ 30,000 -40,000 ล้านบาท  หากรวมกับมาตรการกระตุ้นให้ใช้ยาชื่อสามัญ และลดการใช้ยาต้นแบบหรือยาออริจินอลที่ไม่จำเป็นลงไปด้วย น่าจะประหยัดเงินของประเทศได้อีกจำนวนมาก

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การประชุมหารือวันนี้  เป็นการวางระบบความพร้อมการเรียกเก็บค่ายาของโรงพยาบาลก่อนที่จะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในต้นปีหน้า เนื่องจากขณะนี้โรงพยาบาลบางแห่ง ยังมียาออริจินอลเหลืออยู่ในสต็อกมาก  จึงต้องให้เวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายนำปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นมาพูดคุยกัน และร่วมกันแก้ไขป้องกันไว้ก่อน   เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจไม่ตรงกัน เช่นบางโรงพยาบาลคิดว่าไม่สามารถใช้ยาออริจินอลได้  ก็จะกระทบการรักษาผู้ป่วย  ทำให้ผู้ป่วยเสียประโยชน์หลักเกณฑ์ในการสั่งใช้ยาออริจินอลนั้น ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม  เพียงแต่การเรียกเก็บให้เป็นไปตามอัตราที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดไว้   ซึ่งแพทย์ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้  เป็นอิสระของวิชาชีพแพทย์อยู่แล้ว     

          “ขอยืนยันว่า ในระบบการเบิกจ่ายยาชื่อสามัญและยาออริจินอล  ไม่ได้ห้ามใช้ยาออริจินอล   แพทย์สามารถสั่งใช้ได้เหมือนเดิมตามความจำเป็นของผู้ป่วย  และไม่ได้ห้ามโรงพยาบาลสั่งจ่ายยาออริจินอลให้ผู้ป่วย แต่ขณะนี้ภาพพจน์ด้านคุณภาพของยาชื่อสามัญยังสู้ยาออริจินอลไม่ได้  จะต้องเร่งแก้ไข โดยให้กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์  ตรวจสอบรับรองคุณภาพมาตรฐานยาชื่อสามัญต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจแก่ผู้ใช้ยา  และเชื่อมั่นว่ายาที่ผ่านการรับรองจากอย.แล้วจะเป็นยาที่มีคุณภาพ” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว    

          ทั้งนี้ ในการสนับสนุนส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญ  องค์การเภสัชกรรมจะต้องจัดหายาชื่อสามัญที่ตลาดต้องการ ทั้งจากการผลิตเองในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ หรือส่งเสริมให้ผู้ผลิตในประเทศผลิตเพิ่มขึ้น    รวมทั้งจะส่งเสริมให้มีชื่อยาสามัญใหม่ๆให้มากขึ้น  ซึ่งผู้ผลิตเองอาจจะยังไม่กล้านำมาผลิต เพราะเกรงเรื่องยังไม่หมดลิขสิทธิ์    ดังนั้นองค์การเภสัชกรรมจึงต้องนำร่องผลิตยาเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศเกิดความเชื่อมั่น และผลิตตาม  ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมจะต้องปรับตัวเองเช่นกัน คือไม่ผลิตในสิ่งที่ตัวเองไม่มีประสิทธิภาพ   เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตรายอื่นในประเทศเติบโตขึ้น จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ รวมทั้งลดการนำเข้ายาชื่อสามัญจากต่างประเทศด้วย  แต่ไม่ได้ทำเพื่อปิดตลาดยาในประเทศ

         นอกจากนี้ จะให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพิ่มความเข้มข้นการทำงานในการควบคุมคุณภาพหลังผลิตหรือโพสต์มาร์เก็ตติ้งให้มากขึ้น  เพราะปัญหาส่วนมากจะเป็นการร้องเรียนว่ายาไม่มีคุณภาพ  ซึ่งเป็นการทำงานเชื่อมต่อกับ อย. ที่ดูแลกระบวนการก่อนการผลิต และมาตรฐานโรงงาน อย่างไรก็ตาม ต้องการให้องค์การเภสัชกรรมเร่งปรับตัวให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะเป็นพาหนะหลักของประเทศในการนำไปสู่การใช้ยาชื่อสามัญที่เหมาะสม  ให้พนักงานองค์การเภสัชกรรมทั้งหมดตระหนักว่า ภาระของประเทศอยู่ในมือ  หากไม่เร่งดำเนินการ ก็จะต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศร้อยละ 75 ของยาที่ใช้ทั้งหมด มูลค่าประมาณปีละ 1 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ตลาดยาในประเทศมีมูลค่าประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท  นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

ตุลาคม6/9-10  ************************************* 30 ตุลาคม 2556



   
   


View 8    31/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ