รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายในพื้นที่ รวมทั้งอาหารในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยว ต้องไร้เครื่องปรุงบนโต๊ะ และอาหาร-ขนมยอดนิยมเด็กที่วางขายหน้าโรงเรียน เน้นพวกปิ้ง ย่าง ทอด เช่นไก่ ลูกชิ้น ปลาหมึก ไส้กรอกมันฝรั่งทอด ขนมใส่สีกลุ่มเยลลี่-วุ้นใส่สี และน้ำหวาน โดยจะมีรถตรวจอาหารเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเชิญตัวแทนผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิบัติงาน
จากกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวร้านขายขนมในหมู่บ้านและหน้าโรงเรียน นำขนมไม่ได้มาตรฐานมาขายจำนวนมาก มีหลายรูปแบบ เช่น ขนมปัง-โดนัท เยลลี่ ผลไม้ดอง ส่วนใหญ่ไม่มีเลข อย.โดยได้ทดลองซื้อขนมปังทาเนยจากร้นขายของชำในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู และขนมปังไส้สังขยาใบเตยจากร้านขายของชำหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพ พบว่าเก็บไว้นานเกือบ 2 เดือน ยังไม่มีราขึ้นแต่อย่างใด นั้น
ในวันนี้ (29 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของอาหาร ทั้งด้านความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเป็นปัจจัยต้นทุนในการพัฒนาประชาชนให้มีสุขภาพดี การเสนอข่าวของสื่อมวลชนจัดเป็นการทำหน้าที่ในฐานะของผู้บริโภคที่จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการดำเนินงานทางนโยบายของภาครัฐให้ประสบผลสำเร็จ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปได้จัดทำโครงการสุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่ โดยให้ทุกจังหวัดเร่งปลูกจิตสำนึกประชาชนทุกคนให้คำนึงถึงสุขภาพก่อนที่จะเลือกซื้อหรือเลือกรับประทานอาหารใดๆก็ตาม
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดงบประมาณ ในเรื่องการสร้างความปลอดภัยเรื่องอาหารบริโภคทุกชนิดรวม 37 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศ โดยให้แต่ละเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต ขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ที่ดูแลเขตละ 5-8 จังหวัด จะมีรถตรวจคุณภาพอาหารเคลื่อนที่ ตรวจสารอันตรายปนเปื้อนในอาหาร 6ชนิด ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารเร่งเนื้อแดง สารฟอกขาว สารกันรา และยากำจัดศัตรูพืช และให้ตรวจอาหารยอดนิยมของนักเรียนที่วางขายหน้าโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีประมาณ 50,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะลูกชิ้น-ไส้กรอก ซึ่งมักผสมแป้ง ใส่สี มีสารกันบูด สารบอแร็กซ์ เป็นส่วนผสม เสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาว ปลาหมึกแช่ฟอร์มาลิน ของทอดต่างๆ ซึ่งจะใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายครั้ง และขนมใส่สี เช่นเยลลี่ วุ้น ลูกชุบ น้ำหวาน หากพบไม่ผ่านเกณฑ์ปลอดภัยจะต้องสาวถึงแหล่งผลิต โดยจะเชิญตัวแทนผู้บริโภค เข้ามาร่วมหารือและวางแผนปฏิบัติงานในต้นเดือนพฤศจิกายน 2556นี้
นอกจากนี้ ในส่วนของอาหารในโรงเรียน จากการสำรวจพบว่า โรงเรียนเกือบทุกแห่งจะมีก๋วยเตี๋ยวจำหน่ายให้เด็กนักเรียน จะเน้นที่การควบคุมความปลอดภัยส่วนประกอบ ตั้งแต่หม้อต้มต้องได้มาตรฐาน เป็นสเตนเลสไม่มีรอยตะกั่วบัดกรีมีการปรุงรสชาติน้ำก๋วยเตี๋ยวพอดี มีการตรวจสอบสารฟอกขาวในเส้นก๋วยเตี๋ยว และคุณภาพความปลอดภัยผัก ลูกชิ้น เนื้อหมู ไม่วางเครื่องปรุงบนโต๊ะ เช่นพริกป่น น้ำปลา น้ำส้ม น้ำตาล ซึ่งจะลดความเสี่ยงสารอะฟลาท๊อกซินในพริกป่นที่ทำให้เกิดมะเร็ง ไม่กินเค็มและหวานเกินไป โดยในปี 2556ดำเนินการในรร.ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ นนทบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ภูเก็ต รวม 15,260 แห่ง พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ในปีงบประมาณ 2557 จะดำเนินการเพิ่มอีกร้อยละ 30 และตั้งเป้าหมายครบทุกแห่งภายในปี 2559
ด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2557 นี้ ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำหลักเกณฑ์คุณภาพระบบงานอาหารปลอดภัยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ภายใต้โครงการสุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่ ในส่วนอาหารปลอดภัย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร ให้สอดคล้องกับระบบสากลและกฎอนามัยระหว่างประเทศ 4ระบบใหญ่ คือ1.ระบบการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยตั้งแต่ก่อนผลิต 2.ระบบการเฝ้าระวัง 3.ระบบการตอบโต้เมื่อมีปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยฉุกเฉินหรือมีคนป่วยจากอาหาร และ4.ระบบบริหารจัดการ โดยจะมีการจัดตั้งทีมสอบสวนควบคุมโรคและภัยที่เกิดจากอาหารเคลื่อนที่เร็วประจำจังหวัด หรือเอฟเอสอาร์อาร์ที (Food Safety Rapid Response Team : FSRRT) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นทีมที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (INFOSAN) ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ 1ชุด มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านความไม่ปลอดภัยของอาหารและมีผลกระทบกับประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 สอดคล้องกับการปฏิรูประบบการทำงานใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนของระบบบริหารจัดการ
*********************** 29 ตุลาคม 2556