คณะกรรมการอำนวยการการประชุมวิชาการรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล มีมติ ณ นครเจนีวา กำหนดหนดจัดประชุมนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551 มุ่งเน้นการสังเคราะห์นโยบายการพัฒนาระบบสุขภาพด้วยการสาธารณสุขมูลฐาน ถือเป็นการเฉลิมฉลอง “30 ปี การสาธารณสุขมูลฐานและ 60 ปีองค์การอนามัยโลก” นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมกรรมการฯได้ประชุมเพื่อเตรียมการที่จะประชุมนานาชาติรางวัลฯในปี 2551 ซึ่งรัฐบาลไทย เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก จัดประชุมที่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 30 มกราคม 2551-2 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ข้อสรุปว่าหัวข้อใหญ่ของการประชุมวิชาการรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในปีหน้าจะเน้นเรื่องนโยบายการการพัฒนาระบบสุขภาพ ด้านการพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน เนื่องจากตรงกับการครบรอบ 60 ปี ของการก่อตั้งองค์การอนามัยโลก และครบรอบ 30 ปีของการประกาศการสาธารณสุขมูลฐานทั่วโลกเพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัยประชาชน ที่เมืองอัลมาแอตตา (Alma Ata) เมื่อพ.ศ.2521 นายแพทย์สุวิทย์กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญในปีนี้จะคัดเลือก 5 ประเทศ เพื่อศึกษาการพัฒนาระบบสุขภาพที่มุ่งเน้นการสาธารณสุขมูลฐาน โดยศึกษาในประเทศแถบเอเชียและทวีปอาฟริกา ครอบคลุม 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ การเข้าถึงการป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคเอดส์ การอนามัยแม่และเด็ก การป้องกันควบคุมโรคไม่ติดเชื้อ และการเฝ้าระวังทางด้านสุขภาพ โดยแต่ละประเทศจะเลือกศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่า ในระดับการให้บริการขั้นการสาธารณสุขมูลฐานสามารถที่ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด โดยจัดกรอบประเมินใน 6 ประเด็น ได้แก่ บทบาทภาครัฐและบทบาทเอกชน บทบาทของการเฝ้าระวังโรค ระบบการเงินการคลัง ระบบกำลังคน ผลกระทบทางการค้าเช่น เอฟทีเอที่มีต่อสุขภาพ และผลกระทบจากโครงการอื่นๆ ซึ่งดึงทรัพยากรออกไปจากงานการสาธารณสุขมูลฐาน โดยองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และรัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาทั้ง 5 ประเทศ และจะพิจารณาโครงการในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 นี้ ผลการประชุม จะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบสุขภาพด้วยการสาธารณสุขมูลฐานในระดับโลก ทั้งนี้ การประชุมกำหนดจัดในวันที่ 31 มกราคม 2551 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2551 โดยในวันที่ 30 มกราคม 2551 จะพาผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งล้วนเป็นผู้กำหนดนโยบายและเชี่ยวชาญระดับโลกสาขาต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน ที่รับเชิญประมาณ 300 คนจากทั่วโลก ศึกษาดูงานระบบการสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทยด้วย และจะเชิญผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และรองประธานธนาคารโลก กล่าวสุนทรพจน์ เรื่องการพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยรัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณจัดประชุมปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 70 ล้านบาท นายแพทย์สุวิทย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายการพัฒนาของงานสาธารณสุขมูลฐานในศตวรรษที่ 21 องค์การอนามัยโลก มุ่งเน้นการขยายการครอบคลุมวัคซีนที่จำเป็นพื้นฐานในการป้องกันโรค การดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนวัยเจริญพันธุ์ การเข้าถึงเทคโนโลยีจำเป็นต่อสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อที่กำลังเป็นปัญหาของทั่วโลกขณะนี้ ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากถึง 35 ล้านคนใน พ.ศ.2548 หรือร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุ โดยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 17 ล้านคน การป้องกันการขาดสารอาหาร **************************** 12 มิถุนายน 2550


   
   


View 11    12/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ