“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 441 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งเฝ้าระวังน้ำท่วมที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลพิมายอย่างใกล้ชิด ให้เตรียมแผนความพร้อมป้องกันอย่างเต็มที่ แนะประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินให้โทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยยอดการเสียชีวิตจากน้ำท่วมปีนี้ มีจำนวน 73 ราย ร้อยละ 97 เกิดจากสาเหตุจมน้ำ ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมทุกคน ช่วยกันดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้อยู่ตามลำพัง
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในวันนี้มีความเป็นห่วงพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีโรงพยาบาลเสี่ยง 2 แห่งคือโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งอยู่ใกล้แนวลำตะคอง และที่โรงพยาบาลพิมาย อ.พิมาย ได้รับรายงานทั้ง 2 แห่งยังไม่มีปัญหาน้ำท่วมและมีการเตรียมพร้อมการป้องกันไว้อย่างเต็มที่รวมทั้งเตรียมแผนการปรับการให้บริการ ได้กำชับให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในส่วนของอำเภอพิมาย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ออกดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคลมชักและคนพิการหรือเป็นอัมพาต ให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและสะดวกต่อการให้การดูแลอย่างไรก็ตาม หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ทางโรงพยาบาลจะส่งหน่วยแพทย์ออกไปให้การดูแลช่วยเหลือถึงที่
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน 3 ภาคในปีนี้คือภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 จนถึงวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิต 73 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักระบาดวิทยา ลงสอบสวนหาสาเหตุเพื่อวางมาตรการแก้ไขป้องกัน พบว่าร้อยละ 97 หรือ 71 รายเสียชีวิตจากการจมน้ำ อีก 2 ราย เสียชีวิตจากถูกไฟฟ้าดูด โดยกลุ่มผู้เสียเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 12 ราย อายุ 15-60 ปี จำนวน 38 ราย และอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 22 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตขณะออกหาปลา รองลงมาคือถูกน้ำพัด เล่นน้ำ และเรือล่ม
“ขอย้ำเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่มีเด็กเล็กและมีผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ขอให้ช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้อยู่ตามลำพัง เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหันจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และไม่ควรให้เด็กเล่นน้ำ บริเวณน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว และช่วยกันสำรวจ และเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณบ้ารอบบ้าน และชุมชนที่เสี่ยงต่อการพลัดตกและจมน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพทางน้ำ เช่น ออกไปหาปลา หรือต้องเดินทางทางเรือ ควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพไปให้พร้อมด้วย เช่นเสื้อชูชีพ หรือห่วงยาง ที่เป่าลมแล้ว แกลลอนเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่าที่มีฝาปิด หรือลูกมะพร้าวแห้งติดไปในเรือด้วยทุกครั้ง เพื่อใช้ช่วยในการลอยตัวพยุงตัว หากเกิดอุบัติเหตุ จะป้องกันการเสียชีวิตได้” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
ตุลาคม 5/3 *********************** 23 ตุลาคม 2556