นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 16 ตุลาคมทุกปี เป็นวันอาหารโลก ซึ่งขณะนี้ปัญหาจากอาหารมีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการบริโภคเกินหรือบริโภคไม่ถูกสัดส่วน และสารเคมีอันตรายปนเปื้อน ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ เช่นโรคอ้วน มะเร็ง เบาหวาน ตามมา เปลี่ยนจากในอดีตที่ปัญหาใหญ่จะเป็นเรื่องโรคติดต่อจากเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร การดำเนินงานเรื่องนี้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นที่คุณภาพความปลอดภัยอาหาร ควบคู่กับคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งประสานกับกทม.ดำเนินการในพื้นที่ให้เป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ 

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เน้นให้กินนมแม่ เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนที่สุด ซึ่งจะต้องดูแลอาหารของหญิงตั้งครรภ์และช่วงระหว่างให้นมบุตรด้วย ดูแลพัฒนาอาหารปลอดภัยปลอดโรคและโภชนาการที่เหมาะสมตามเกณฑ์อายุที่ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ เพื่อให้เด็กมีส่วนสูงดีและรูปร่างสมส่วน    
ในกลุ่มเด็กวัยเรียน 5-14ปี เน้นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่มีผลต่อภาวะอ้วนและความฉลาดของเด็ก  ซึ่งขณะนี้เด็กวัยเรียนอ้วนมากขึ้น เนื่องจากกินมากเกินไป และกินไม่ถูกสัดส่วน ผลสำรวจในปี 2552 พบเด็กอายุ 6-14 ปี มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 9.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่พบอ้วนร้อยละ 5.8 และในรอบ 3 เดือนของปี 2556 นี้ เด็กอายุ 6-12 ปี มีภาวะอ้วนถึงร้อยละ 8.7 โดยจะให้ทุกจังหวัดดูแลอาหารในโรงเรียนและหน้าโรงเรียนให้จำหน่ายอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ รวมทั้งเฝ้าระวังมิให้มีการจำหน่ายอาหารที่ใช้สารเคมี วัตถุเจือปนอาหารที่จะทำให้เกิดการสะสมเป็นอันตรายต่อเด็ก รณรงค์และให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลอาหาร และนักเรียน ให้ลดหรืองดการใช้เครื่องปรุงรสเกินความจำเป็น เช่น น้ำตาล น้ำปลา พริกป่น ถั่วลิสงป่น และน้ำส้มพริกดอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตและมะเร็งเป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อที่มากับอาหารที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง พบว่าแนวโน้มดีขึ้น ในปี2555 ทั่วประเทศป่วย 1,256,649 ราย เสียชีวิต 24 ราย ลดลงกว่าปี 2554 ที่มีจำนวนผู้ป่วย 1,323,105 ราย เสียชีวิต 55 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากทีสุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ รองลงมาคือวัยแรงงาน โดยในปี 2556 ข้อมูลถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 901,797 ราย   เสียชีวิต 7 ราย โดยจะเน้นการปลูกฝังพฤติกรรมกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือแก่ประชาชนทุกวัย เพื่อเสริมความเข้มแข็งป้องกันโรคด้วย
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย พัฒนายุทธศาสตร์และกลไกการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพระดับชาติด้านอาหารและโภชนาการ โดยเน้นการป้องกัน เฝ้าระวังและจัดการด้านความปลอดภัยอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย พร้อมทั้งพัฒนาความร่วมมือเรื่องนี้ทั้งในระดับอาเซียน เอเชีย-แปซิฟิก และภูมิภาคอื่นๆ ด้วย โดยจัดแผนรับมือและระบบการจัดการอาหารในภาวะฉุกเฉินร้ายแรง เช่นกรณีเกิดความไม่ปลอดภัยของอาหารภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อดูแลคุ้มครองความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนไทยและต่างประเทศ นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว            
******************************************** 16 ตุลาคม 2556


   
   


View 13    16/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ