“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 438 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาการดื่มน้ำมากเกินพิกัด 6-7 ลิตรต่อวัน จะมีผลทำให้ร่างกายเกิดปัญหาที่เรียกว่าไฮโปแนทรีเมีย ทำให้ระดับเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ สมดุลน้ำในร่างกายเสียไป น้ำจะเข้าไปคั่งในเซลล์ตามร่างกาย หัวใจ-ปอดทำงานหนัก และเกิดภาวะสมองบวม เสียชีวิตได้ ย้ำเตือนนักกีฬาที่เสียเหงื่อมาก อย่าดื่มน้ำมากเกิน 1 ลิตร อาจทำให้เกิดภาวะไฮโปแนทรีเมียได้เช่นกัน
จากกรณีข่าวเด็กชายฝาแฝดอายุ 16 ปี เข้าร่วมพิธีกินเจที่บ้านญาติ ในอ.สะเดา จ.สงขลา และดื่มน้ำวันละ 18 ลิตรเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจออกจากร่าง จนเกิดอาการชักเกร็ง หมดสติ โดยแฝดน้องเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลชันสูตรของแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากน้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลว และสมองบวม ส่วนแฝดพี่รักษาตัวในโรงพยาบาล นั้น
ในวันนี้ (9 ตุลาคม 2556) นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอยู่แล้ว อาจได้รับอันตรายจากการทำพิธีกรรมบางอย่างได้ สำหรับน้ำดื่มนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นส่วนประกอบ 2 ใน 3 ของร่างกาย โดยน้ำจะอยู่ภายในเซลล์ต่างๆ และอยู่นอกเซลล์ เช่น เลือด อยู่ตามช่องว่างระหว่างเซลล์ รวมทั้งอยู่ภายในอวัยวะต่างๆ เช่น ในลูกตา น้ำย่อยอาหาร น้ำไขสันหลัง (CSF) ปกติร่างกายจะสูญเสียน้ำวันละประมาณ 2.5 ลิตรทางเหงื่อ ลมหายใจ และการขับถ่าย โดยร่างกายได้น้ำจากการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ต่างๆ และการดื่มน้ำ ต่อวันควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ประมาณ 1,200 ซีซีหรือ 6-8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเหมาะสม หากดื่มน้ำน้อยเกินไป อาจเกิดภาวะขาดน้ำถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ส่วนการดื่มน้ำที่มากไปคือเกินวันละ 6-7 ลิตร จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ (water intoxication) เนื่องจากน้ำจะเจือจางทำให้ความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมลดลง ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่รักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์ เมื่อถูกเจือจางลงจะทำให้น้ำภายนอกเซลล์ซึมเข้าไปภายในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมน้ำ หรือคั่งน้ำ เกิดภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำหรือไฮโปแนทรีเมีย (Hyponatremia) จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกหรือชัก จากสมองบวม ปอดบวม และเสียชีวิตได้
ด้านแพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการดื่มน้ำให้เหมาะสม ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไต โรคหัวใจ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนบางกลุ่มยังมีความเชื่อว่า การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยทำให้ผอมลง หรือกินน้ำบ่อยๆให้อิ่มเพื่อลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายไม่อยากอาหาร วิธีการเช่นนี้จะทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียมมากยิ่งขึ้น การดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้นอนไม่พอ เนื่องจากต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากขณะออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็ไม่ควรดื่มน้ำเกิน 1 ลิตรในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียมไปพร้อมกับเหงื่อ หากดื่มน้ำมากเกินไป น้ำจะไปเจือจางเกลือโซเดียมที่เหลืออยู่ ทำให้เกิดภาวะไฮโปแนทรีเมียได้เช่นกัน
********************************** 9 ตุลาคม 2556