กระทรวงสาธารณสุข จัดบริการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไม่มีวันหยุด   ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงพื้นที่ประสบภัยวันละประมาณ 100 ทีม พบผู้ป่วยรวม 68,919 คน โรคน้ำกัดเท้ามากเป็นอันดับ 1 ไม่มีโรคระบาด    และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึงบ้านรวม 56,331 ราย   พบผู้มีความเครียด  703 ราย   ในจำนวนนี้มี 230 ราย ต้องดูแลใกล้ชิด แนะประชาชนให้กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ ทิ้งขยะหรือถ่ายอุจจาระลงถุงดำ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด
 
          วันนี้ ( 6 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ไม่มีวันหยุด ออกปฏิบัติการวันละประมาณ 100 ทีม รวม 1,065 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้   พบผู้ป่วยสะสม 68,919 ราย   ทั้งหมดเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วๆไป ไม่มีโรคระบาด และไม่มีรายใดอาการรุนแรง   ที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ น้ำกัดเท้า ปวดเมื่อยและปวดศีรษะ และจัดส่งทีมเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึงที่บ้าน รวม 56,331 ราย อย่างไรก็ดีขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดสิ่งสกปรกในน้ำท่วมขัง   ซึ่งบ้านเรือนในพื้นที่น้ำท่วม ส้วมจะใช้การไม่ได้   ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงดำ และทิ้งขยะลงในถุง แล้วมัดปากถุงให้แน่น เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด และขอให้ประชาชนยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ      
 
          สำหรับผลกระทบด้านสุขภาพจิต ได้ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่นกลุ่มผู้ประสบภัยที่มีโรคประจำตัวทั้งโรคทางกายและโรคทางจิต ผู้ที่ได้รับความสูญเสียมากทั้งทรัพย์สิน และมีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิต    ทั้งในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วมและพื้นที่น้ำลดแล้วเพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง ได้ตรวจประเมินแล้ว 4,786 ราย พบมีความเครียดรวม 703 ราย ในจำนวนนี้มี 230 รายที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเครียดในระดับสูง และบางรายมีอาการซึมเศร้า พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของผู้ที่มีความเครียดทั้งหมด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำการตรวจประเมินผลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ภายหลังระดับน้ำลด    เพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ในวันพรุ่งนี้ได้มอบหมายให้นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติงานด้วย 
 
          ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะประธานวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข    กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์จากน้ำท่วม สถานบริการได้รับผลกระทบ 72 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 64 แห่ง เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ลุ่ม และมีโรงพยาบาลถูกน้ำท่วม 7 แห่ง และเปิดให้บริการได้   โดยมีแห่งเดียวคือโรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี    ที่ยังคงให้บริการเฉพาะตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน   เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียถูกน้ำท่วม ยังใช้การไม่ได้   ขณะนี้มีผู้ป่วยตรวจรักษาเฉลี่ยวันละ 50-100 ราย และมีผู้ป่วยที่ส่งต่อไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเฉลี่ยวันละประมาณ 4-5 ราย กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งฟื้นฟูเพื่อให้สามารถให้บริการเต็มรูปแบบโดยเร็ว
 
          สำหรับน้ำท่วมครั้งนี้ มีบุคลากรสาธารณสุข ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 937 คน   ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 242 คน ที่เหลืออีก 695 คน เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม.   ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี  กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมหน่วยแพทย์จากจังหวัดอื่น มาช่วยในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เช่น ชลบุรี ลพบุรีเป็นต้น
 
**************************************** 6 ตุลาคม 2556
        
                        
                         
      


   
   


View 14    06/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ