กระทรวงสาธารณสุข เผยในรอบ 5ปีสังคมไทยใช้ความรุนแรง ทำร้ายสตรีและเด็กต้องส่งโรงพยาบาลภาครัฐจำนวน 117,506 ราย เฉลี่ยก่อเหตุทุก 20นาที ปัญหาอันดับหนึ่งของผู้ใหญ่คือถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนในเด็กคือถูกคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดจากครอบครัวที่มีปัญหาพ่อแม่ตีกัน อาจมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือบางครั้งเด็กผู้หญิงจะห้าวเหมือนเด็กชาย เพราะต้องการปกป้องแม่ ขณะที่เด็กชายไม่อยากเลียนแบบความเป็นชายจากพ่อจะอ่อนแอคล้ายเพศหญิง เพราะมองว่าผู้ชายเป็นเพศชอบทำร้ายผู้หญิง ย้ำหนทางป้องกันความรุนแรง พ่อแม่จะต้องช่วยกันสร้างครอบครัวให้เป็นสุข ให้ความอบอุ่นแก่ลูกทุกคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ ต้องสร้างความผูกพันกับเด็กมากที่สุด หากเด็กเห็นความรุนแรงทั้งพฤติกรรมและวาจา จะฝังภาพอยู่ใต้จิตสำนึกของเด็กได้ 
 
นายนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าต้องยอมรับว่าขณะนี้ความรุนแรงในเด็กและสตรีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันในสังคมไทย และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2550-2554 มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงต้องส่งเข้ารับบริการจำนวน 117,506 ราย เฉลี่ยปีละ 23,501 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 นาที ล่าสุดปี 2554 มีเด็กและสตรีถูกกระทำจำนวน 22,565 ราย เป็นเด็ก 11,491 ราย เป็นหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป 11,074 ราย
 
ปัญหาที่พบในกลุ่มเด็กอันดับ 1คือ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ พบ 8,518 ราย รองลงมาคือทางร่างกาย 2,413 ราย และทางด้านจิตใจ 262 ราย ผู้ทำร้ายส่วนใหญ่คือคนรู้จัก สาเหตุหลักคือผู้กระทำได้รับแรงกระตุ้นจากสื่อลามก ความใกล้ชิดและโอกาสเอื้ออำนวย รองลงมาคือการดื่มสุรา ใช้สารเสพติด ส่วนการบาดเจ็บในกลุ่มผู้หญิงอายุ 18ปีขึ้นไป อันดับ 1 คือการถูกกระทำต่อร่างกาย เช่นถูกทุบตี 8,716 ราย ผู้ทำร้ายส่วนใหญ่เป็นผู้ใกล้ชิด เช่น สามี แฟน สาเหตุอันดับ 1 ได้แก่ การนอกใจทะเลาะ หึงหวง รองลงมาคือเมาสุรา และใช้สารเสพติดอื่นๆ
 
นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า การกระทำรุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งสังคมไทยยังมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเปิดเผยให้ใครทราบและเด็กมักตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้ง่าย เพราะไม่รู้เท่าทันผู้ใหญ่ไม่มีประสบการณ์ป้องกันตัวเอง และเด็กมักจะถูกขู่ไม่ให้บอกใครหรือครอบครัวไม่ยอมให้เปิดเผยเพราะกลัวอับอายจึงต้องเร่งกระตุ้นให้สังคมไทยเกิดความตระหนัก และร่วมกันแก้ไขป้องกันในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งหน่วยบริการเฉพาะคือศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ  ให้บริการแบบสหวิชาชาชีพและครบวงจรทั้งด้านการแพทย์ซึ่งให้การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ การสังคมสงเคราะห์ ด้านกฎหมายจนถึงขณะนี้ดำเนินการครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปรวม95 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีทั้งหมด 743แห่ง หากพบเด็กหรือสตรีถูกทำร้าหรือเหตุการณ์ที่มีการทำร้ายรุนแรงเกิดขึ้น ขอให้โทรแจ้งที่หมายเลข 1669ทันที จะส่งรถพยาบาลออกปฏิบัติการนำผู้ป่วยเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลเครือข่ายใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด ภายใน15นาที
 
ทางด้านแพทย์หญิงเบญจพร ปัญญายง ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรง 1.6 ล้านคน 1 ใน 5 เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความรุนแรงดังกล่าวทำให้เสียชีวิต พิการและ บาดเจ็บ การตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพิ่มอัตราการทำแท้ง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ ภาวะกดดัน ยาเสพติด และแอลกอฮอล์                
                                  
ทั้งนี้ จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงแห่งชาติ (IS) ปี พ.ศ. 2550-2555การบาดเจ็บรุนแรงในผู้หญิงจากการถูกทำร้ายด้วยวิธีต่างๆ พบว่าการถูกทำร้ายโดยการใช้กำลังกาย รวมอาละวาด หรือต่อสู้โดยไม่ใช้อาวุธมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีข้อสังเกตว่าหากมีอาการมึนเมาทั้งคู่ การบาดเจ็บจะรุนแรงกว่าคนที่อีกฝ่ายไม่ได้ดื่มเหล้าอันเนื่องจากการขาดสติยั้งคิด รองลงมาคือการถูกทำร้ายโดยการใช้อาวุธไม่มีคมร้อยละ 21  ถูกทำร้ายโดยการใช้อาวุธมีคมร้อยละ 19  ถูกทำร้ายโดยการใช้อาวุธปืนไม่ระบุชนิดร้อยละ 11  การถูกทำร้ายโดยไม่ระบุวิธี รวมลอบสังหาร ฆาตกรรม ร้อยละ 7 การถูกทำร้ายทางเพศโดยการใช้กำลังกาย รวมการข่มขืน ร้อยละ 4  
 
แพทย์หญิงเบญจพรกล่าวต่ออีกว่า จากการศึกษารายกรณีที่เป็นผู้ก่อความรุนแรง พบว่ามีประวัติอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงมาก่อน หรืออาศัยอยู่ในสังคมแวดล้อมที่มีใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำให้ซึมซับพฤติกรรมรุนแรงและเกิดความเคยชิน เมื่อมาประสบกับปัญหาจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการรุนแรงและก้าวร้าวเช่นกัน และหากพบว่าครอบครัวที่มีพ่อทำร้ายแม่ จะทำให้ลูกสาวมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนมาทางชาย เนื่องจากไม่ต้องการให้ตนเองอ่อนแอเหมือนแม่ และมีพฤติกรรมก้าวร้าวปกป้องตนเองและแม่ไม่ให้ถูกทำร้าย ส่วนครอบครัวที่มีลูกชายก็จะมีพฤติกรรมกลายเป็นผู้หญิงแทน มีอาการเศร้าซึม เก็บตัว ไม่อยากเป็นผู้ชาย เพราะมองว่าผู้ชายชอบทำร้ายผู้หญิง
 
“ในการป้องกันปัญหาการใช้ความรุนแรง พ่อแม่จะต้องช่วยกันสร้างครอบครัวให้เป็นสุข และให้ความอบอุ่นแก่ลูกทุกคน สร้างความรักและความผูกพันกับลูกๆ โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่และเป็นช่วงที่สมองของเด็กพัฒนามากที่สุด ในการอบรมลูกควรเลือกใช้วิธีอื่นแทนการเฆี่ยนตี เช่น ทำงานชดเชย งดเที่ยวเล่น เป็นต้น และไม่ควรใช้ความรุนแรงทั้งพฤติกรรมและวาจาต่อหน้าเด็ก แม้ว่าเด็กจะดูเหมือนว่ายังไม่รู้เรื่องก็ตาม สิ่งที่เด็กเห็นหรือสัมผัสจะฝังอยู่ใต้จิตสำนึกของเด็กตลอดไป” แพทย์หญิงเบญจพรกล่าว
 
******************************************* 6 ตุลาคม 2556
 
 


   
   


View 9    06/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ