ใช้ทรัพยากรร่วมกันสูงสุด  เพิ่มอำนาจการต่อรองมากขึ้น

วันนี้ (4 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ระหว่างนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการเขตบริการสุขภาพหรือซีอีโอ (CEO) พร้อมมอบนโยบาย “การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนไทย” โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เข้าร่วมกว่า 400 คน

          นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยทุกคน และให้พ้นจากภาวะล้มละลายจากรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาล โดยในปีพ.ศ.2546 เป็นปีแรกที่เริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  45 ล้านคน เข้ารับบริการที่ผู้ป่วยนอก เฉลี่ย 2 ครั้งต่อคนต่อปี หรือประมาณ 100 ล้านครั้งต่อปี ส่วนในปี 2556 มีประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพฯเพิ่มเป็น 48 ล้านคน เข้ารับบริการที่ผู้ป่วยนอก 32 ล้านคน เฉลี่ย 3 ครั้งต่อคนต่อปี หรือประมาณ 160 ล้านครั้งต่อปี    โดยในจำนวนนี้ มี 1-2 ล้านคน ที่เข้ารับบริการเกิน 1 ครั้งใน 1 เดือน ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ต่อว่า คนไทย 32 ล้านคน ที่เข้ารับบริการมีสุขภาพเป็นอย่างไรถึงต้องมาโรงพยาบาล และคุณภาพบริการของโรงพยาบาลดีหรือไม่  ทำไม 16 ล้านคนถึงไม่มา เพราะสุขภาพดีหรือไปรักษาที่อื่นๆ

                นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทต่อปี  ถ้ารวม 3 ระบบคือสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และประกันสุขภาพฯ อยู่ที่ 3 แสนล้านบาทต่อปี และยังมีนอกระบบอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท   และจะมากขึ้นในอนาคตจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ   จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบบริการ เพื่อสร้างความสมดุลของค่าใช้จ่ายกับรายได้  จึงเป็นที่มาของการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นแนวคิดและการศึกษาของหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขหรือสวรส.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. ซึ่งมีความเห็นร่วมกันในการปรับปรุงงานบริการประชาชนให้ดีที่สุด  เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ โดยใช้ยุทธศาสตร์เขตสุขภาพ เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองมากขึ้น  มีการใช้ทรัพยากรสูงสุดร่วมกันทั้ง เงิน คน สถานที่ ลดการลงทุนทั้งอาคาร เครื่องมือแพทย์ที่ซ้ำซ้อน  โดยดำเนินการทั้งการบริหารและบริการร่วมกัน  มีการกำหนดหน้าที่อย่างชัดเจน และจะมีการเพิ่มหน้าที่ที่ขาดหายไปเพิ่มขึ้นด้วย

 ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวง สาธารณสุข ที่ 1447/2556 กำหนดเขตบริการสุขภาพ และมอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติงานในเขตบริการสุขภาพ หรือบริหารจัดการหรือเรียกว่าเป็นซีอีโอ(CEO)ในเขตบริการสุขภาพ ดังนี้ 1. นายคำรณ  ไชยศิริ ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และจังหวัดลำพูน 2. นายเกียรติภูมิ  วงศ์รจิต ดูแลในเขตบริการสุขภาพที่ 2  ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์

3. นายสุขุม  กาญจนพิมาย ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร นครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี  4. นายจักรกฤษณ์  ภูมิสวัสดิ์ ดูแลในเขตบริการสุขภาพที่ 4  ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี  และจังหวัดอ่างทอง 5. นายสุริยะ  วงศ์คงคาเทพ  ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 5  ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือกาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี

6.นายวิศิษฐ์  ตั้งนภากร  ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 6  ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว และจังหวัดสมุทรปราการ 7. นายรัฐวุฒิ  สุขมี  ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม  และจังหวัดร้อยเอ็ด  8. นายสุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย  ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 8 ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือนครพนม บึงกาฬ เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี  9. นายนิทัศน์ รายยวา ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

10.นายทวีเกียรติ  บุญยไพศาลเจริญ  ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือมุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ 11. นายสุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 11 ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี  12.นายธีรพล โตพันธานนท์   ดูแลเขตบริการสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา  และสตูล

 ***************************  4 ตุลาคม 2556



   
   


View 13    04/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ