สาธารณสุขเผยสถานการณ์น้ำท่วมที่ปราจีนบุรี รพ.ประจันตคามน้ำท่วมรอบอาคารสูง 40 เซนติเมตร ระบบบำบัดน้ำเสียใช้การไม่ได้ งดรับผู้ป่วยในชั่วคราว ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ย้ายผู้ป่วยหนักและหญิงคลอดรวม 3 รายไปรพ.กบินทร์บุรี ยังเหลือผู้ป่วย 9 ราย ส่วนที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ระดับน้ำที่ถนนหน้าโรงพยาบาลลดลง ไม่ท่วมโรงพยาบาล ให้คงแผนป้องกันไว้

             วันนี้ (2 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ ได้รับรายงานจากวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข ว่า โรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ถูกน้ำท่วมบริเวณรอบอาคารสูงประมาณ 40 เซนติเมตร และที่บ้านพักสูงประมาณ 1 เมตร ได้ย้ายผู้ป่วย 3 ราย ไปที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี ประกอบด้วย ผู้ป่วยหนักโรคหัวใจล้มเหลว 1 ราย และหญิงรอคลอด 2 ราย ยังเหลือผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล 9 ราย ทุกรายช่วยเหลือตัวเองได้ คาดว่าจะกลับบ้านได้ในสัปดาห์นี้ ขณะนี้ ยังเปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง งดรับผู้ป่วยในชั่วคราว เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียใช้การไม่ได้ หากมีผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลจะส่งไปโรงพยาบาลกบินทร์บุรี โดยได้ทำสะพานไม้จากถนนเข้าไปอาคารผู้ป่วย และจัดเรือรับส่งผู้ป่วย มีทหารช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนเรื่องยาและเวชภัณฑ์สำรองไว้ใช้ได้ 2 เดือน ส่วนออกซิเจน อาหารและน้ำดื่มมีใช้เพียงพอ ระบบประปา ไฟฟ้ายังใช้การได้
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลใน 10 จังหวัดภาคเหนือและอีสานที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมจากพายุหวู่ติ๊บซึ่งมีทั้งหมด 57 แห่ง เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ เตรียมแผนการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยในโรงพยาบาล
             ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น.ระดับน้ำบนถนนหน้าโรงพยาบาลลดลงเกือบแห้งแล้ว เส้นทางสัญจรได้ ระดับน้ำด้านหลังโรงพยาบาลไม่เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นโรงพยาบาลประมาณ 20 เซนติเมตร ไม่มีปัญหาน้ำท่วมภายในโรงพยาบาล สามารถเปิดให้บริการตามปกติ รวมทั้งคลินิกพิเศษนอกเวลาด้วย วันนี้มีผู้ป่วยนอนรักษา 400 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหนัก 42 ราย ให้คงมาตรการเตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในภาพรวมของ จ.ปราจีนบุรี มีสถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วม 16 แห่ง ประกอบด้วยรพ.ประจันตคาม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 3 แห่งคือ กบินทร์บุรี ประจันตคาม และศรีมหาโพธิ ที่เหลือ 12 แห่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ปัญหาหลักของประชาชนคือน้ำกัดเท้าพบร้อยละ 43 ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเฝ้าระวังโรคระบาดเช่น โรคอุจจาระร่วง หากพบให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง ขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาดใดๆ
             ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูมน้ำท่วมกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วงคือมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมครั้งนี้ 27 ราย ส่วนใหญ่มาจากการจมน้ำ จึงขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก 3 ห้าม 2 ให้ คือห้ามหาปลา ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นน้ำ และ 2 ให้คือ ให้ใช้อุปกรณ์ชูชีพขณะเดินทางทางเรือ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น อุปกรณ์ที่ควรมีประจำเรือเช่นเสื้อชูชีพ แกลลอนหรือขวดน้ำเปล่าขนาดใหญ่ที่ปิดฝาสนิท และให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพราะหากเกิดเหตุจะสามารถช่วยเหลือกันได้ รวมทั้งป้องกันไฟฟ้าช็อต ด้วย 3 ย. 1 ต. คือยกเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง ย้ายปลั๊กให้พ้นน้ำ ยืนในน้ำไม่จับเครื่องใช้ไฟฟ้า และอยู่ห่างเสาไฟ ตัดวงจรไฟฟ้าในชั้นที่น้ำท่วมถึง  สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน – 1 ตุลาคม 2556 จำนวน 896 ครั้ง พบผู้ป่วย 36,834 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า 
 ******************************************* 2 ตุลาคม 2556


   
   


View 15    02/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ