กระทรวงสาธารณสุขไทย ศึกษาดูงานระบบการช่วยเหลือประชาชนในภาวะภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น เพื่อนำประสบการณ์มาปรับใช้รับมือกับภาวะภัยพิบัติในประเทศ ลดความรุนแรงและผลกระทบอื่นๆ โดยเฉพาะการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะนี้ไทยมีร้อยละ 14.5 ของประชากร และจะเพิ่มขึ้นอีกราว 2 เท่าตัวในปี พ.ศ.2568 ซึ่งส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตง่ายกว่าวัยอื่น
นายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 27-29 กันยายน 2556 ได้นำคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)ศูนย์อุดรธานี ผู้อำนวยการรพ. บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น นักวิชาการ และสื่อมวลชน ศึกษาดูงานการสื่อสารความเสี่ยงและระบบการจัดบริการการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ในกรณีภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการจัดการภัยพิบัติที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และขณะนี้ญี่ปุ่นเป็นสังคมของผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุร้อยละ 32 ของประชากรทั้งหมด โดยกำหนดดูงาน 2 แห่ง คือที่รพ.สภากาชาด เมืองอิชิโนมากิ เมืองเซนได ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อพ.ศ.2554 ละที่ศูนย์เตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติที่กรุงโตเกียว เพื่อเรียนรู้รูปแบบและนำประสบการณ์ความสำเร็จของญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ในการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือประชาชนไทยกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นถี่และทวีรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดผลกระทบและช่วยให้สังคมกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
สำหรับร.พ.สภากาชาด เป็นโรงพยาบาลขนาด 402 เตียง ตั้งอยู่ในเขตภัยพิบัติสึนามิ ทำหน้าที่ทั้งด้านรักษาพยาบาล หน่วยกู้ชีพกู้ภัย และเป็นศูนย์พักพิงประชาชนในเขตนี้ เป็นโรงพยาบาลตัวอย่างของการประสานงาน การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ดูแลรักษาผู้ป่วยในภาคสนาม เจ้าหน้าที่พร้อมปฎิบัติงานภายใน 4 นาที และสอนให้ผู้ประสบภัยช่วยเหลือตนเองให้ได้ร้อยละ 90 ส่วนศูนย์เตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติและศูนย์การเรียนรู้การป้องกันตัวเองจากแผ่นดินไหวกรุงโตเกียว เป็นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินและศูนย์พักพิง ของประชาชนในเขตโตเกียว รองรับประชาชนได้ 4,000 คน เป็นเวลา 7 วัน ศูนย์นี้ทำหน้าที่ให้ความรู้การป้องกันอันตรายจากแผ่นดินไหว โดยใช้สื่อผสม และการจำลองสถานการณ์ เน้นให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้ใน 72 ชั่วโมงก่อนความช่วยเหลือจากทางการมาถึง
ทางด้านนายแพทย์นันทศักดิ์ ธรรมานวัตร์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยมีผู้สูงอายุ 9.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร เพิ่มปีละประมาณ 5 แสนคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ทำให้ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ ในพ.ศ.2568 เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ควรให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ แต่การช่วยเหลือมีวิธีปฏิบัติแตกต่างจากกลุ่มวัยอื่น เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว ร่างกายมีการเสื่อมสภาพ ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เสี่ยงบาดเจ็บ พิการ อาจเสียชีวิตได้ง่ายกว่าวัยอื่น การช่วยเหลือในภาวะภัยพิบัติควรเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ผลสำรวจปัญหาของผู้สูงอายุจากภัยพิบัติ 3 เหตุการณ์ในไทย ได้แก่ เหตุน้ำท่วม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในปี 2554 พบว่า ขณะน้ำท่วมผู้สูงอายุมีภาวะสุขภาพไม่ดี ร้อยละ 26 และเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 49 หลังน้ำท่วม ส่วนภาวะหมอกควันในปี 2555 ที่เชียงราย พบผู้สูงอายุมีสุขภาพแย่ลงร้อยละ 56 พบมากที่สุดคือตาอักเสบร้อยละ 86 และเหตุดินโคลนถล่มที่ จ.นครศรีธรรมราช พ.ศ. 2555 หลังเกิดปัญหา ผู้สูงอายุร้อยละ 27 รู้สึกสุขภาพตัวเองแย่ลง
********************* 27 กันยายน 2556
View 15
27/09/2556
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ