กระทรวงสาธารณสุข สั่งการสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและฝนตกหนัก 18-22 กันยายน 2556 ให้ป้องกันน้ำท่วมเต็มที่ เตือนประชาชนระวังโรคที่อาจมากับน้ำท่วม อุบัติเหตุไฟดูด หรือเล่มน้ำอาจจมเสียชีวิตได้

          วันนี้(18 กันยายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่ฝนอาจตกหนักระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2556 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา  นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมรับมือ โดยได้สั่งการให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานที่ตั้งในที่ลุ่มน้ำ และสถานบริการที่ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้จัดระบบการป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ขนย้ายเครื่องมือเวชภัณฑ์ที่บริการประชาชน ไปไว้ในจุดที่ปลอดภัย และให้จัดระบบสำรองไฟ ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาหากเกิดภาวะฉุกเฉิน หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้ง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง 

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า มีความกังวลเป็นห่วงในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และเน่าเสีย เนื่องจากจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นปัญหาของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนพื้นฐานครบตามกำหนด กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานงานกับกรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครบ รวมทั้งคนต่างจังหวัดที่เข้ามาพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และยังไม่มีสิทธิการรักษาให้ได้รับบริการที่เท่าเทียมกัน

          ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงที่มีน้ำท่วมขังกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงประชาชนที่อาจเจ็บป่วยจากโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคผิวหนัง โรคตาแดง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนูโรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย รวมทั้งอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไฟดูด พลัดตกน้ำ จมน้ำ บาดแผลจาก ของมีคม เศษแก้วบาด แผลถลอก แผลถูกตำ แผลฟกช้ำต่างๆ ซึ่งอาจติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้

          สำหรับการเตรียมพร้อมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ไม่ควรประมาทว่าจะไม่เกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติน้ำท่วมมาก่อน ควรติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วมอย่างสม่ำเสมอ การเตรียมน้ำสะอาดไว้บริโภค อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ยาที่จำเป็นต่างๆ เช่น ยาลดไข้ ยาหยอดตา ยาใส่แผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ ยาประจำตัวสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว อุปกรณ์การสื่อสาร เช่น โทรศัพท์พร้อมแบตเตอร์รี่สำรอง ไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉายเทียนไข ไม้ขีดไฟ ถุงขยะ ให้สามารถช่วยตนเองได้อย่างน้อย 5-7 วัน

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ประชาชนชนในพื้นที่น้ำท่วมควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินไปชนหรือเหยียบของมีคมต่างๆที่ทำให้เกิดบาดแผลอาจก่อให้เกิดโรคตามมา ถ้าจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ ไม่ควรใส่รองเท้าที่อบหรือเปียกชื้นทั้งวัน หลังเหยียบย่ำน้ำต้องล้างเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้งโดยเฉพาะซอกนิ้วเท้า ไม่ควรเล่นน้ำ บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว เนื่องจากเสี่ยงการเจ็บป่วย และการจมน้ำเสียชีวิต ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรดื่มของมึนเมาอาจเป็นตะคริวจมน้ำได้ และหากจำเป็นต้องทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง แกลลอนเปล่า หรืออุปกรณ์ที่ช่วยในการลอยตัวได้ คนที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ไม่ควรอยู่ตามลำพัง

********************** 18 กันยายน 2556



   
   


View 13    18/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ