กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการประจำปี 2556 กระตุ้นบุคลากรทั่วประเทศ พัฒนางานศึกษาวิจัย คิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ แก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย และสร้างสุขภาพดีประชาชน ในปีนี้มีการประกวดผลงานวิชาการ 555 เรื่อง และมอบรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ดีเด่น รางวัลชมเชย ประจำปี 2555 จำนวน 7 ผลงาน

              วันนี้ (11 กันยายน 2555) ที่โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2556 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 21  ในปีนี้เน้นเรื่อง “ ปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อคนไทยสุขภาพดี ”  มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดทุกระดับทุกสาขาอาชีพ ทั่วประเทศทั้งส่วนกลางและภูมิภาคร่วมประชุม 4,000 คน เพื่อให้บุคลากรเผยแพร่นำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยในพื้นที่ในการพัฒนาระบบบริการ  แก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย และแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพดีแก่ประชาชน ในรูปแบบต่างๆ  สร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ทางวิชาชีพ และนวัตกรรมต่างๆ  นำความรู้ไปพัฒนาระบบบริการให้เกิดประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขและประชาชนผู้รับบริการต่อไป 

                      

               ในปีนี้ มีผู้ส่งผลงานวิชาการเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 555 เรื่อง แบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ ผลงานวิจัยที่นำเสนอแบบวาจา 325 เรื่อง  ผลงานวิจัยที่นำเสนอแบบโปสเตอร์ 155 เรื่อง  และผลงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 75 เรื่อง  ผลงานทั้งหมดได้ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาอาชีพของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยต่างๆ และจะคัดเลือกผลงานวิชาการที่ดีที่สุด ให้ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปีต่อไป   นอกจากนี้ ยังได้จัดเสวนาประเด็นท้าทายน่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ การปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างไร จึงตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ  วิวัฒน์การแพทย์ฉุกเฉินไทยก้าวไปอินเตอร์ ทิศทางการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แผนไทยจะเป็นแผนหลักของไทยในชาตินี้ การอภิปรายเรื่อง เขตสุขภาพ : หัวใจของการปฏิรูประบบสาธารณสุข  ยาสามัญ มั่นใจได้ การบรรยายเรื่องครอบครัวมีสุข ปลอดทุกข์จากความรุนแรง

                      

                ด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข  ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2555 จำนวน 7 รางวัล  แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทผลงานยอดเยี่ยม 4 รางวัล ได้แก่ 1.ผลงานของนายพรสิทธิ์  ทวยนันท์ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง“การประเมินโครงการสนับสนุนการกำกับการกินยาวัณโรคต่อเนื่อง (DOT)” ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. ในการควบคุมโรควัณโรคในกลุ่มผู้ป่วย 2.ผลงาน “การพัฒนาแบบคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อตับในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านวัณโรค” โดยเภสัชกรหญิงบุษกร หาญวงษ์ โรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อหาอุบัติการณ์การเกิดพิษต่อตับในผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านวัณโรค ช่วยพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและแก้ไขการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง สร้างความปลอดภัยในการใช้ยาแก่ผู้ป่วย ลดการสูญเสียค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาวัณโรค

               3.ผลงาน “ผลการใช้คะแนนอาปาเช 2 (APACHE II :Acute Physiology And Chronic Health Evaluation II)   ในการบริหารเตียงหอผู้ป่วย ICU ทั่วไป”  โดยนางยุพิน  ตันอนุชิตติกุล โรงพยาบาลลำปาง เพื่อใช้เป็นดัชนีการตรวจวัด ประเมินความรุนแรงของความเจ็บป่วย การดำเนินโรค การพยากรณ์โรค และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก หากเกณฑ์ค่าคะแนนสูง โอกาสการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น การใช้คะแนนอาปาเช 2 ช่วยให้ผู้ป่วยหนักได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาเตียงเต็มในไอซียู (ICU) ได้ และ4.ผลงานการประดิษฐ์ “เครื่องถ่างแผลผ่าตัดมะเร็งเต้านมและผ่าตัดอื่นๆ เช่นผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิด ผ่าตัดไทรอยด์” โดยนายแพทย์อธิคม ดำดี โรงพยาบาลกระบี่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ลดการใช้แรงคน เช่นพยาบาลห้องผ่าตัดในการดึงเครื่องมือเพื่อขยายแผลผ่าตัด และลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อของผู้ช่วยผ่าตัด    

                        

              ประเภทดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ 1.ผลงาน “การใช้อัลตราซาวน์เพื่อตรวจการรั่วของสารน้ำในผู้ป่วยเดงกี่” แพทย์หญิงกนกวรรณ  ศรีรักษา โรงพยาบาลขอนแก่น  เพิ่มคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และ2.ผลงาน “การศึกษาพัฒนาตำรับอาหารในศูนย์เด็กเล็กให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น” โดยนางสุจิตรา สีหะอำไพ  ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก เพื่อพัฒนาตำรับอาหารที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น ให้เหมาะสมกับความต้องการที่เด็กเล็กควรได้รับประทานในมื้อกลางวัน ให้เด็กได้รับสารอาหารสมวัยและเพียงพอตามหลักโภชนาการ  

              และประเภทชมเชย 1 รางวัล ได้แก่ “ผลของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมตึกพิเศษ 60 เตียง โรงพยาบาลศรีสะเกษ” โดยนางปราณี  ศรีงามช้อย โรงพยาบาลศรีสะเกษ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น ข้อเข่าติด แผลติดเชื้อ ลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยจาก 9 วัน เหลือ 6 วัน ลดค่าใช้จ่ายลงได้รายละ 3,500 บาท ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจัดอยู่ในกลุ่มโรคมีค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 139,846 บาทต่อราย 

 ********************************* 11 กันยายน 2556

 



   
   


View 15    11/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ