สาธารณสุขไทยตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดจากประเทศในปี 2563 เผยขณะนี้ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า 55,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน มากกกว่าร้อยละ 95 อยู่ในเอเชียและอาฟริกา               ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ตัวการหลักที่นำโรคมาสู่คนคือสุนัข แนะหากถูกสุนัขกัดหรือข่วน ทั้งสุนัขโตหรือลูกสุนัข ขอให้รีบล้างแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค และรีบไปพบแพทย์

             วันนี้ (11 กันยายน 2556) ที่โรงแรมชาเทรียม โฮเต็ล ริเวอร์ไซด์ กทม. นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมโรคพิษสุนัขบ้าระดับนานาชาติ (RIACON) ครั้งที่ 4 จัดโดยมูลนิธิโรคพิษสุนัขบ้าเอเชีย (Rabies in Asia) และกระทรวงสาธารณสุขไทย ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2556 เพื่อสร้างความร่วมมือประเทศสมาชิกของมูลนิธิโรคพิษสุนัขบ้าเอเชีย ซึ่งมี 10 ประเทศ ได้แก่ อาฟกานิสถาน บังคลาเทศ จีน อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม เนปาล และไทยรวม ทั้งประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 ประเทศ (ลาว พม่า กัมพูชา) ในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศภายในพ.ศ.2563 ตามเป้าหมายองค์การโรคระบาดสัตว์หรือโอไออี (OIE) และจากการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 (ASEAN plus Three) เมื่อ 23-25 เม.ย. 2551 ที่เวียดนาม

             นายสรวงศ์กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรง หากติดเชื้อจนมีอาการป่วย ไม่สามารถรักษาให้หายได้  ต้องเสียชีวิตทุกราย แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 55,000 คนจาก 150 ประเทศ เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน  ร้อยละ 95 อยู่แถบเอเชียและอาฟริกา โดยเฉพาะจีนและอินเดียมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ผู้ถูกกัดส่วนมากเป็นเด็กชาย อายุต่ำกว่า 15 ปี สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้มากที่สุดคือสุนัข โดยปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรประมาณ 7,000 ล้านคน และมีสุนัขอยู่ประมาณ 500 ล้านตัว 

             นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทย แม้ว่าผู้เสียชีวิตในปัจจุบันจะลดลงมากจากอดีตกว่า 50 เท่าตัว แต่ยังพบทุกปี โดยเมื่อพ.ศ. 2523 มีผู้เสียชีวิต 370 คน ลดเหลือ 7 คนในปี 2555 และรอบ 8 เดือนปี 2556 นี้กลับมีผู้เสียชีวิต 7 คน ซึ่งถือว่าเชื้อโรคยังคงมีอยู่ในพื้นที่แม้ว่าจะควบคุมโรคประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง สาเหตุเพราะบางพื้นที่ยังไม่มีการควบคุมโรคในสุนัข หรือยังฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัขซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคครอบคลุมไม่ถึงร้อยละ 80 ของสุนัขในพื้นที่ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 7 ล้านตัว แต่ละปีคนไทยถูกสุนัขกัดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คิดเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 

             ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากไทย กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดทำ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข ปศุสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.เสริมสร้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นป้องกันโรค เน้นควบคุมโรคในสัตว์เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คน 3. เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ หากมีคนถูกสุนัขบ้ากัดหรือมีสุนัขบ้าในพื้นที่ ให้ฉีดวัคซีนป้องกันในสุนัขทุกตัวในรัศมี 3-5 กิโลเมตร 4.ให้ชุมชนมีส่วนร่วมป้องกัน และ5.ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยงสุนัขให้เลี้ยงอย่างถูกวิธี ฉีดวัคซีนให้สุนัขทุกปี และมีการคุมกำเนิดสุนัข ขอย้ำเตือนประชาชน หากถูกสุนัขกัด ถูกเล็บข่วน หรือถูกเลียบริเวณที่มีบาดแผล ไม่ว่าเป็นสุนัขโตหรือลูกสุนัข ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ใส่ยา และไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่สุด

***************************************11 กันยายน 2556



   
   


View 18    11/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ