รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ย้ำเตือนประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป ให้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ  เพื่อชะลอความแก่ ซึ่งวัยนี้จะแก่ลงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์   โดยแนะให้ออกกำลังการสม่ำเสมอ  รับประทานอาหารครบ 5 หมู่  จะช่วยชะลอวัย  ร่างกายแข็งแรง หน้าเด็กกว่าวัย   การผ่าตัดศัลยกรรมไม่สามารถคงความเป็นหนุ่มสาวถาวรได้

วันนี้ (6 กันยายน 2556) ที่โรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ (International Bangkok Congress on Anti-Aging and Aesthetic Medicine) โดยมีนายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีเปิด

นายสรวงศ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายในการพัฒนาสุขภาพประชาชนไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายต้องการให้คนไทยมีอายุยืนยาวเฉลี่ยอย่างน้อย 80 ปี และมีสุขภาพดีให้นานที่สุด  โดยให้การดูแลสุขภาพประชาชน ออกเป็นรายกลุ่มอายุ คือ อายุ 0-5 ปี  6-20 ปี  21-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป  ซึ่งปัจจุบันเวชศาสตร์ชะลอวัยกำลังได้รับความสนใจกันมากขึ้น เนื่องจากคนอายุยืนยาวขึ้น  และต้องการให้ร่างกายแข็งแรงหรือดูอ่อนกว่าวัย   ซึ่งตามทฤษฎีทางการแพทย์นั้น  พบว่าร่างกายคนเราจะเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป และจะแก่ลงทุกปี  ปีละ 1 เปอร์เซ็นต์   เราไม่สามารถหยุดความแก่ได้  แต่สามารถชะลอความแก่ให้ช้าลงได้  2  ทางคือ 1.ลักษณะภายนอก คือ ดูแล้วไม่แก่  และ 2.ลักษณะภายใน คือ ร่างกายไม่แก่ 

นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า การเน้นการชะลอให้ร่างกายไม่แก่จากภายใน ได้แก่ อวัยวะ กล้ามเนื้อ สมอง ตับไต ในปัจจุบันสามารถทำได้จากการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคที่ดี   ส่วนเรื่องภายนอก เช่น รักษาผิวพรรณ รอยเหี่ยวย่น อาจอาศัยการแพทย์ช่วย เช่น ผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่ง เป็นต้น  เป็นการชะลอแก่ได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นหนุ่มสาวขึ้น หรือคงความเป็นหนุ่มสาวอย่างถาวรได้     อย่างไรก็ตามขบวนการส่งเสริมสุขภาพบางอย่าง เริ่มมีหลักฐานว่าอาจช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงโรคต่างๆได้ ซึ่งน่าศึกษาวิจัยต่อไป ศาสตร์หลายศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้ในปัจจุบัน อาจต้องใช้เวลาศึกษาต่อไป ตราบใดที่ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

นายสรวงศ์ กล่าวอีกว่า วิธีการดูแลตนเองให้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และมีหลักฐานว่าสามารถชะลอความแก่ให้เกิดขึ้นช้าลงได้  ประการแรกคือ การออกกำลังกาย ที่มีการใช้กล้ามเนื้อเช่น การวิ่ง  การเดิน ว่ายน้ำ เป็นเวลา 45 นาทีทุกวัน มีงานวิจัยยืนยันว่าจะกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ระบบหมุนเวียนโลหิตในร่างกายดี   ป้องกันโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง  การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข  ทำให้ไม่เกิดความเครียด  นอนหลับดีขึ้น  และช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน ควบคุมน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม  สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น   ประการที่ 2 คือรับประทานอาหารครบ 5 หมู่และหลากหลาย เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้นให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัมทุกวัน  ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน เกลือแร่  ช่วยให้ระบบการขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ       ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กาแฟ  เป็นต้น

                                                                                                                 *************************************** 6 กันยายน 2556



   
   


View 8    06/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ